วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

Biutiful : ความงามที่มองเห็นด้วยหัวใจ

Rating:★★★★
Category:Movies
Genre: Drama


ไปดู Biutiful (2010) ของผู้กำกับ Alejandro González Iñárritu คนเดียว เพราะเป็นหนังของ Javier Bardem นักแสดงคนโปรด เพราะว่าเป็นหนังภาษาสเปน อันเป็นภาษาที่รักเสมอ และเพราะคิดว่ารอบหนังลงตัวพอดีกับจังหวะนัดทำฟัน ...โดยที่ไม่รู้อะไรมากไปกว่านี้มากนัก (โอเค ก็รู้หรอกว่าหนังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงลูกโลกทองคำสาขา ภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้นำพาอะไร)

การณ์ปรากฏว่าหนัง Biutiful มันเป็นอะไรแบบที่ ถ้าดูกันแบบใช้ ‘ตา’ ดูอย่างเดียว ก็แทบจะไม่ได้เห็นความ Beautiful เลย ต้องใช้ ‘หัวใจ’ ดู จึงจะมองเห็นว่าท่ามกลางความเสื่อมโทรมที่แสนจะชวนให้หดหู่ซึ่งฉายออกมาเป็นภาพต่อเนื่องยาวสองชั่วโมงกว่าๆ ตลอดหนังเรื่องนี้ คือภาพแห่งความงดงามของการเกิดมาเป็นคน

บาร์เซโลน่าที่เคยเห็นในหนังเรื่องอื่นเป็นเมืองที่สง่า สะอาด และสว่างไสว แต่ในหนังเรื่องนี้กลับดูแออัดไปด้วยความสกปรก หม่น และหมองชนิดที่แทบไม่มีที่ว่างให้ต้นกล้าแห่งความหวังผลิใบอ่อนออกรับแสงอาทิตย์ ผู้คนก็ดูย่ำแย่ อมโรค ยากจน พิกลพิการทางร่างกายและจิตใจ จนแทบหาความสวยงามไม่ได้

ภาพพวกนี้เราไม่ประสงค์จะได้เห็น แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นบาร์เซโลน่า โตเกียว กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ไหนๆ ในโลกก็ล้วนเป็นแบบเดียวกัน โลกโทรมๆ ที่เราไม่อาจเลือกที่จะมีชีวิตอยู่อย่างพรั่งพร้อม สะอาด สมบูรณ์ การเกิดเป็นคนที่ไม่สามารถเลือกพ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตร หรือลูกหลานที่แข็งแรง สวยงาม มีสุขภาพดี ชีวิตความเป็นพลเมืองที่ไม่อาจเลือกเกิดในประเทศชาติที่มีการยอมรับและเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นคน ทั้งยังไม่อาจเลือกจะทำงานที่ได้รับค่าตอบแทนแรงงานอันชอบธรรม และยุติธรรมพอจะนำไปใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองและลูกเมีย

นึกไม่ออกเลยใช่ไหมว่าในสภาพที่ไร้ซึ่งความน่าอภิรมย์แบบนี้ เราจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้อย่างไร

และแล้วอินาร์ริตู ผู้กำกับใจร้ายที่ไม่เคยปรานีปราศรัยกับความอ่อนไหวแห่งเส้นประสาทของคนดู ก็ประดิษฐ์ชีวิตของ Uxbal (อุ๊กซ์บัล-ฆาเบียร์ บาร์เด็ม) ขึ้นมา เพื่อสาธิตให้เห็นว่า ชีวิตห่วยๆ ก็มีความสวยงามในแบบของมันอยู่เหมือนกัน

อุ๊กซ์บัลรู้ตัวว่ากำลังจะตาย และกำลังรวบรวมเงินทิ้งไว้ให้เป็นทุนชีวิตของลูกสอง เมียสติไม่ดีอีกหนึ่ง การพลาดพลั้งทำลายชีวิตที่มีชีวิตอื่นให้เลี้ยงดูเหมือนตัวเอง หัวจิตหัวใจเมื่อสัมผัสความห่วงหาอาลัยลูกผู้จากไปในวัยเยาว์ ความถวิลหาบิดาผู้ที่เขาไม่มีโอกาสได้พบหน้า และความรู้สึกเมื่อรู้ว่าพี่ชายเอากับเมียตัวเอง สถานการณ์ช่วงท้ายของชีวิตบีบคั้นรุนแรง แต่เขาก็หาทางออกของตัวเองจนได้

เราเองก็ต้องหาทางออกของเราได้เหมือนกัน

ฉันดูหนังเรื่องนี้ในวันหนึ่ง อีกวันก็ได้ข่าวการละสังขารของหลวงตาบัว แล้วฉันก็คิดว่า อีกไม่ช้าก็เร็วเราทุกชีวิตก็ต้องจากชีวิตนี้ไปเหมือนกัน มันคงจะดีไม่น้อย ถ้าก่อนจากไปเรามีโอกาสได้สัมผัสกับความสวยงามครบมิติของการได้เกิดมามีชีวิต มาพบเจอ ผูกพัน และพลัดพรากกับคนอื่นๆ รวมทั้งมีโอกาสที่จะฟื้นคืนศรัทธาต่อมนุษย์อื่นได้เช่นเดียวกับอุ๊กซ์บัล

....ที่จริงไม่ต้องเห็นเหมือนกันทั้งหมดหรอก จะยกเว้นภาพที่เขาเห็นบนเพดานไปสักอย่างก็ได้



หมายเหตุ
• มีความรู้สึกว่าการเขียนถึงหนังเรื่องนี้มันเข้ากับเพลง Blues ที่ฟังอยู่ชะมัด!
• ความจริงแล้วดูจากรายชื่อหนังที่ Iñárritu กำกับมาก่อน (เช่น AMORES PERROS, 21 GRAMS, BABEL) ก็น่าจะพอเตรียมใจกับความหนักของหนังได้นะ (จริงๆ ไปดูคนเดียวก็ดี ถ้าปวดหัวก็ปวดคนเดียว แต่ถ้าชวนเพื่อนไปดูด้วยแล้วเพื่อนปวดหัว เราคงปวดหนักกว่ามันเป็นสองเท่าเพราะโดนเพื่อนบ่นใส่!)
• แอบเห็น roundfinger เขียนไว้ใน Facebook ว่า “Biutiful ผู้กำกับเดียวกับ 21 grams ระหว่างนั่งดูเหมือนมีเหล็ก 21 tons ทับหัวอยู่ตลอดเวลา” แล้ว.. โคตรจะเห็นด้วยเลย
• ภาษาสเปนไม่ได้ใช้คำว่า biutiful ในความหมายว่าสวยงาม นี่เป็นการเขียนคำในภาษาอังกฤษผิด แต่ทำไมถึงผิด ที่มามันอยู่ในเรื่อง ไปหาเอานะจ๊ะ
• ความจริง Bardem น่าจะได้รางวัลนำชายนะ พี่แกเล่นได้เยินถึงใจจริงๆ เห็นภาพ+อาการแล้วแทบจะจินตนาการถึงกลิ่นได้ทีเดียว


วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

...อยากกินนก






บ่ายวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2554

แมวสองตัวเงยหน้าขึ้นไปบนท้องฟ้า
จับตามองนกพิราบอ้วนพีที่เทียวบินขึ้นลง
แล้วแมวตัวหนึ่งก็แลบลิ้นออกมา

สงสัยจะอยากกินนก

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

พี่กับน้อง


จริงๆ ตรงนี้เป็นที่นอนของพี่



พฤหัสบดีที่ 27 มกราคม 2554

เมื่อเช้าเอาแบตใส่กล้อง แล้วซ้อมมือถ่ายรูปแมว
แมวยอมหยุดนิ่งให้ถ่าย เลยได้รูปตลกๆ มาหลายรูป

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

Bambino: เด็กเกรียนเรียนรู้ชีวิต

Rating:★★★★
Category:Movies
Genre: Drama


เปิด Bambino (2007) แผ่นแรกโดยเดาว่าคงเป็นหนังทำนองเดียวกับ Osen ที่ดูแล้วได้เรียนรู้วัฒนธรรมการกิน ได้รู้พวกเกร็ด เคล็ดลับในการทำอาหาร ซึ่งในกรณี Osen คืออาหารญี่ปุ่นต้นตำรับ ส่วน Bambino นี่เป็นอาหารอิตาเลียน

จบแผ่นแรกเล่นเอาเกือบเบื่อ พอเข้าแผ่นสองแหละถึงเริ่มสนุก หลังจากพบว่าที่เดาไว้มันไม่ใช่เลย จะเป็นพาสต้าชื่อนี้คืออะไร ใส่อะไรบ้าง เวลาจะต้มพาสต้า หรือผัด เขาทำกันยังไง เรื่องพวกนี้เป็นแค่ประเด็นรองปลีกย่อยหยุมหยิมเท่านั้นเอง ที่ซีรีส์เรื่องนี้ (ซึ่งสร้างขึ้นจากมังงะ) กำลังพูดถึงเป็นอะไรที่เข้มข้นและสะท้อนชีวิต "จริงๆ" กว่านั้นตั้งเยอะ เพราะมันพูดถึง “การเรียนรู้ชีวิตผ่านการทำงาน”

บัน โชโหงะ (Matsumoto Jun) คือเด็กหนุ่มวัย 20 ที่เป็นเหมือนกบบ้ายอ คำยกย่องชื่นชมจากลูกค้าร้านอาหารอิตาเลียนเล็กๆ ในท้องถิ่นฟุกุโอกะบ้านเกิดเหมือนลมที่เป่าเข้าไปในตัวของเขาจนพอง พานคิดว่าตัวเองเบิ้มแล้ว จัดเจนแล้ว แน่แล้ว มั่นว่าทำได้ทุกอย่าง --ถ้าเป็นเรื่องรสชาติไม่มีพลาด! ฯลฯ ซึ่งจะว่าไปมีความหลงตนว่าเก่ง คล้าย “เด็กเกรียน” แถวๆ นี้ไม่น้อย

จนถึงวันที่กบตัวนี้ออกจากกะลาเพื่อไปฝึกงานในครัวในช่วงปิดเทอม ณ ร้านรุ่นน้องของเจ้าของร้านซึ่งตัวเองทำงานอยู่ ก้าวแรกใน Trattoria Baccanale ร้านอาหารอิตาเลียนชื่อดังแห่งย่านรปปงหงิ โตเกียว ก็ทำเอาอึ้ง อดีตดาวดวงเด่น เปี่ยมพรสวรรค์จากครัวร้านเล็กๆ ที่รับลูกค้าได้ไม่ถึง 20 คน พอมาเจอร้านที่มีลูกค้าเข้าพร้อมๆ กันทีละหลายสิบ ถึงกับเข่าอ่อน แถมยังได้ประจักษ์ในวันนี้ว่าตัวเองเป็นแค่ “เด็กน้อย” ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น สมกับชื่อเล่น “Bambino” ที่เชฟใหญ่ตั้งให้

แบมบี้น้อยถูกลดชั้นไปเป็นผู้ช่วย เด็กล้างจาน ถูกตวาด ตะคอกเพราะทำงานไม่เข้าจังหวะเร่งของร้าน เจ็บปวดเพราะไม่เข้าใจว่าคนเก่ง (จากบ้านเกิด) อย่างเขาทำไมถึงมาเน่าที่นี่ จนค่อยๆ เรียนรู้ (ได้ช้ามากนะ) ที่จะจับจังหวะไปกับเขา จนเกิดความลังเลที่จะทิ้งครัวกลับไปเรียนมหาวิทยาลัยต่อ จนกระทั่งเขาตัดสินใจครั้งใหญ่ คือหยุดเรียน และทิ้งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือคนรัก ไว้ที่ฟุกุโอกะ มุ่งหน้าเข้าโตเกียวเพื่อที่จะมาเรียนรู้งานในครัวอย่างเต็มตัว ....เพียงเพื่อที่จะพบกับความผิดหวัง เพราะแม้ Trattoria Baccanale จะต้อนรับเขากลับ แต่งานที่ได้ทำไม่ยักใช่งานหน้าเตาในครัว แต่เป็นการเริ่มต้นตามธรรมเนียมด้วยการทำหน้าตายิ้มแย้ม ต้อนรับการมาเยือนของลูกค้า และคอยบริการให้ลูกค้าได้เติมเต็มทั้งพื้นที่ในกระเพาะและความความรู้สึก ทั้งนี้ก็ด้วยเจตนาจะปลูกฝังความเข้าใจความรู้สึกของลูกค้าไว้ในตัวของคนทำอาหาร ซึ่งเมื่อถึงวันที่ได้เข้าครัวแล้วก็จะไม่มีโอกาสออกมาโอภาปราศรัยกับลูกค้าอีกเลย

ตลอดเวลาที่เห็นแบมบี้สะบักสะบอม อดหลับอดนอน นั่งโง่ตลอดคืนเพราะไม่เข้าใจเรื่องง่ายๆ บางเรื่อง คนดูก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมเขา ทั้งเรื่องการสลายอีโก้ เรียนรู้ที่จะทำใจกับความผิดหวัง เมื่ออะไรๆ ไม่เป็นอย่างที่คิด การจัดลำดับความสำคัญของงาน การยอมรับและให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน การเคารพในอัตลักษณ์ รวมถึงความวิริยะอุตสาหะ พยายามของคน การทำความเข้าใจเสียใหม่กับคุณค่าของงานที่ตัวเองกำลังทำ และการจัดสมดุลระหว่าง งาน ชีวิต และความฝัน

จะว่าไปมันเป็นเหมือนการถอดตัวเองออกมาจากองค์ที่เราคิดว่าเราเป็น ลอยขึ้นไปข้างบนเพื่อจะมองลงมาเห็นข้างล่างว่านอกจากตัวเราแล้วยังมีใครอีกบ้างในโลกทั้งบริเวณรอบๆ ตัวเราและไกลออกไป คนอื่นเขาทำอะไรกันอยู่บ้าง เพื่อที่เมื่อเรากลับเข้าสู่ร่างเดิมของเราแล้ว เราจะทำงาน ใช้ชีวิต และมีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ต่อไปด้วยความเคารพในความตั้งใจ ความฝัน ความดี รอยแผล และประสบการณ์ชีวิตของคนเหล่านั้น ไม่ใช่ดักดานอยู่แต่ในโลกใบเล็กๆ ตระหนักรู้อยู่แค่ความรู้สึกของตัวเองอย่างที่เคย


ดูเหมือนว่าการตะเกียกตะกายเรียนรู้ชีวิตของเด็กเกรียนสอนอะไรผู้ใหญ่เยอะเหมือนกัน




บันทึก
• เรื่องที่ต้องชมคือ นักแสดงที่ฝึกฝนทักษะของตัวละครในบทบาทที่ตัวเองเล่นมาอย่างชำนิชำนาญ จุนควงกระทะคล่องมาก (โอเค ถึงมันหนักไม่เท่ากระทะจีนก็เหอะนะ) ท่าดูดพาสต้าชิมของบรรดาเชฟเอย ท่วงท่าเลียนแบบหนุ่มอิตาเลียนของหัวหน้าพนักงานเสิร์ฟเอย (โอเคไม่อาจบอกหรอกว่ามันเหมือนไหม แต่มันดูเนียน ไม่เคอะเขินน่ะ)
• ดูเหมือนจุนได้รับรางวัลนักแสดงนำด้วย แปลกดีที่ฉันไม่ค่อยเห็นด้วย ใน 2 Episode แรก รู้สึกว่าเขาเล่นแข็งไปด้วยซ้ำ หรือที่ตั้งใจให้แข็ง ให้ชัด จะเป็นเพราะซีรีส์เรื่องนี้ถ่ายทอดออกมาจากมังงะ อยากให้ดูแล้วได้อารมณ์แบบอ่านมังงะด้วยหรือเปล่า
• Kitamura Kazuki ในบทหัวหน้าบริกรเจ้าเสน่ห์ก็เป็นอีกคนที่ได้รับรางวัลในบทบาทนักแสดงสมทบ ฉันชอบเขานะ ชอบหน้าตาแบบนี้ (ในความคิดรู้สึกว่าเป็นคนที่หล่อมาก) เขาเก่งที่ทำให้เราเชื่อว่าเป็นผู้ชายเจ้าเสน่ห์ ไม่ใช่เกย์ และไม่ใช่คนเจ้าชู้ ลามปาม
• ดู Bambino แล้วไม่เห็นเกิดอยากจะบริโภคเมนูพาสต้าขึ้นมาเลย (ยกเว้นตอนเห็นแบมบี้ตักทิรามิสุเข้าปาก) ตอนดู Osen สิ เห็นอะไรก็อยากกินไปหมด จมูกยังแทบว่าจะได้กลิ่นด้วยซ้ำ ยิ่งตอนที่โอเซนทำสุกียากี้นะ อยากจะโทรไปนัดเพื่อนไปอากิโยชิกันเดี๋ยวนั้นเลย
• อย่างไรก็ตาม ในความรู้สึกแล้วซีรีส์เรื่องนี้เป็นเหมือนอาหารดีๆ มีประโยชน์ ตลอดทั้งเรื่องไม่มีใครทำร้ายใครเลย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าที่แวดล้อมตัวแบมบี้ อาจจะมีโหดใส่บ้าง ดุบ้าง แต่เพราะหวังดีต่อเขาทั้งนั้น แล้วทุกคนก็อดทนเพราะเคารพแบมบี้ ไม่อยากจะไปจี้สอนเหมือนสอนเด็กทารก แต่รอจนแบมบี้เข้าใจเอง คิดได้เอง เห็นแล้วชื่นใจกับสังคมแบบนี้อย่างบอกไม่ถูก
• ไม่รู้จะมีใครเห็นด้วยหรือเปล่า ไม่ค่อยชอบตอนจบแบบนี้เลย

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

Ahiru to kamo no koinrokkâ กับเหตุผลของการมีชีวิตอยู่

Rating:★★★★
Category:Movies
Genre: Drama


คุยกับแม่ลูก (อ่อน) สองเมื่อวานนี้เรื่องชีวิต เห็นตรงกันว่าการมีลูกและการเลี้ยงสัตว์ทำให้เราเรียนรู้ที่จะคิดถึงคนอื่น (บ้าง) ไม่ใช่แต่อะไรๆ ก็คิดถึงแต่เรื่องของตัวเองเหมือนสมัยยังสาว ตอนที่โลกทั้งใบยังหมุนรอบตัวเรา

แม่ลูกสองสำทับด้วย quote คำพูดของศิลปินสุดเซอร์คนหนึ่ง “การมีลูกทำให้เป็นอิสระ” ...เขาหมายถึงอิสระจากการวนเวียนคิดถึงแต่เรื่องตัวเอง ฉันเถียงไปว่า ไม่จริงเลย ถ้ามันคืออิสระจากการวนเวียนคิดถึงเรื่องตัวเอง เพียงเพื่อจะไปคิดวนเวียนเรื่องลูก (หรือสัตว์เลี้ยงของเรา) แล้วก็พานให้คิดถึงการมีชีวิตอยู่ หัวข้อที่ฉันคิดวนเวียนตั้งแต่รับลูกแมวพิการมาเลี้ยงคู่กับแมวสมบูรณ์ (แล้วก็มีอันว่าแมวที่คิดว่าสมบูรณ์ก็ไม่ได้มีสุขภาพสมบูรณ์อย่างที่คิดเสียอีก!) นังหนูสามขาหน้าโง่และแบ๊วของฉันนี่เอง ที่ทำให้ฉันถามตัวเองออกบ่อยไป ว่าถ้ามันเป็นคน มันจะเลือกมีชีวิตอยู่ในสภาพร่างกายแบบนี้ไหม หรือถ้าฉันเป็นอย่างมัน ฉันจะมีหน้าร่าเริงวิ่งสามขาจู๊ดๆ ไล่หลังพี่สี่ขาอ้วนพีดีของมันไปทั่วห้อง เพียงเพื่อจะไล่ฟัดกันเล่นๆ ไหม จะรักชีวิตและจ้องมองจิ้งจกด้วยตากลม เป็นประกายอย่างนั้นได้หรือเปล่า

มีหนังเรื่องหนึ่งที่อยากจะเขียนถึงตั้งนานแล้ว แต่ดูแล้วก็ทึ่งจนอึ้ง ไม่รู้จะเขียนถึงอย่างไรดี จนถึงวันที่ผ่านบทสนทนาเรื่อง ‘ลูก’ กับ ‘แมว’ ในวันนี้ ฉันจึงได้นึกออก ว่าแท้ที่จริงหนังเรื่องนี้พูดถึงการมีชีวิตอยู่

Ahiru to kamo no koinrokkâ (2007) ซึ่งแปลตรงๆ ได้ว่า “เป็ดเทศ กับเป็ดบ้าน และล็อกเกอร์หยอดเหรียญ” หนังที่เพื่อนสาวจัดให้มาตั้งนานแล้ว ด้วยเธอชอบหนังเรื่องนี้ที่อะไรอีกหลายอย่าง นอกจากเพราะมีนักแสดงในดวงใจของเธอร่วมแสดงด้วย เริ่มอย่างเอื่อยๆ เฉื่อยๆ ด้วยภาพและเพลง Blowin’ in the Wind ในเสียงของ Bob Dylan อย่างหนังแนวๆ (ซึ่งทำให้ฉันหลับไปภายใน 15 นาทีแรกอยู่หลายรอบ) แต่พอผ่านครึ่งเรื่องไปแล้วต้องบอกว่าทึ่งกับบท และความยอกย้อนท้าทาย ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนตอนเล่นเกมตรรกะที่ทดสอบไหวพริบและสมาธิของเราไปในตัวไม่มีผิด

หลอกเราให้เราเข้าใจเป็นอย่างหนึ่งในตอนแรก แล้วก็มาเฉลยว่า ‘นั่นมันผิดหมดเลยจ้ะ’ ในตอนหลัง เด็กแปลกถิ่นคนหนึ่ง ย้ายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งเพื่อเรียนหนังสือ เขาไปพร้อมกับเสียงฮัมเพลง Blowin’n in the Wind เพลงที่ตัวละครบางคนบอกว่าเสียงของบ็อบ ดีแลน คนร้องในเทปนั้นเป็นราว ‘เสียงของพระเจ้า’ และเป็นความเกี่ยวเนื่องกับเพลงนี้ของตัวละครแต่ละตัวนี่เอง ที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้าด้วยกัน
เด็กใหม่ถูกชักชวนไปร่วมปฏิบัติการงี่เง่าที่ดูไม่มีเหตุผล แต่ที่จริงแล้วมีเหตุผลหนักแน่นควรแก่เหตุ การทำให้คนอื่นเข้าใจว่าตัวเองเป็นอีกคน และการลงโทษคนบางคนด้วยวิธีที่เลือกสรรเอง ก็ล้วนมีเหตุผลของมัน

ฉันคิดว่าการเลือกที่จะใช้ชีวิต และ ‘เป็น’ ในแบบที่คนแต่ละคนปรารถนาจะเป็น เป็นเรื่องที่ต้องเคารพ แต่การเลือกที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อชีวิตอื่น จะเป็นพ่อแม่ คนรัก หรือแม้จะเป็นแค่หมาแมว นอกจากน่าเคารพแล้ว ยังเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ด้วย

(ยิ่งใหญ่จนควรค่าแ่ก่การได้รับการอภัยจากพระเจ้่าเลยล่ะ!)

วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

โ ช ค ดี ที่เจอกัน



เท้าขวาดูบวมๆ เพราะว่ามันโดนยิิงหนังสติ๊กใส่มา

15-16 มกราคม 2554

กลับบ้านคราวนี้เจอหมาหน้าใหม่ เป็นตัวเมีย แม่บอกว่ามันเพิ่งมาอยู่ด้วย
ที่จริงเคยหลงมาก่อนหน้านี้แล้ว ตอนนั้นมีอาการขากระเผลก เหมือนถูกรถชนมา แม่ก็จับให้กินยา ให้อาหาร แล้วก็ให้นอนนอกบ้าน เพราะเกรงใจนัง(หมา)ดำลูกรัก
ปรากกฏว่าพอมันอาการดีขึ้นก็หายไป 3-4 วัน

กลับมาอีกทีในสภาพซมซาน คราวนี้เดินด้วยขาหน้าข้างที่เคยเจ็บ เพราะอีกข้างที่เคยดีนั้นเจ็บกว่ามาก มองดูดีๆ มันจะบุบๆ เบี้ยวๆ ด้วยซ้ำไป หน้าอกมีสะเก็ดเลือดกรัง ส่วนอาการที่หนักที่สุดคือปาก

ปากมันเบี้ยวเหมือนจระเข้ที่ฟันบนกับฟันล่างสบกันไม่สนิท มิหนำซ้ำ ฟันล่างและบนซีกซ้ายยังหักหายไปทั้งแถบ เหลือแค่โคนฟัน

แม่บอกว่าใหม่ๆ มันอ้าปากแทบไม่ได้ เลยจัดยาแก้อักเสบให้คลุกกับอาหารเม็ดของแมวที่มีอยู่แล้ว (คุณดำเธอกินข้าวคลุกกระดูก แต่นังนี่อ้าปากแทะกระดูกไม่ได้ก็กินอาหารแมวเม็ดไปละกัน)

ที่ฉันไปเห็นนี่มันกินยาแก้อักเสบกับข้าว 3 มื้อมาสัก 20 วันได้แล้ว แม่บอกว่าอาการดีขึ้นเยอะ เวลาแม่กลับบ้านจะกระโดดยืนด้วยสองขาหลัง หูลู่ หางแกว่ง ยอมให้แม่จับปากดูฟันได้ กับฉันมันก็ยังมาตีซี้ ส่ายหางงี้ดๆ ใส่ตั้งแต่แรกเห็น

เรื่องของหมาตัวนี้ ตอนแรกมองไกลๆ เห็นขาบุบบี้ของมันแล้วคิดว่ามันโดนรถชน แต่พอไปจับใต้คางมัน จับปากปลิ้นเห็นฟัน ฉันว่ามันโดนไม้ตีหน้ามามากกว่า แม่บอกได้ยินแว่วๆ ด้วยว่ามีคนเห็นมันถูกคนยิงหนังสติ๊กใส่ตีน

ไม่รู้มันไปขโมยอะไรเขา หรือไปทำอะไรให้เขารำคาญ
แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเหมาะแล้วหรือ ที่ต้องทำกับหมาโง่ๆ ตัวหนึ่งขนาดนี้

การที่มันมาอยู่กับเรา ฉันคิดว่ามันโชคดี
อย่างน้อยก็มียา มีอาหาร มีที่นอน แล้วก็มีคนที่เมตตามัน แถมเจ้ดำเค้าก็ไม่ได้เขม่นอะไรมากมาย

ก็เลยเรียกมันว่าเจ้า โชคดี เพราะเหตุนี้

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

ของใช้จากเพื่อน



ของมูลนิธิเด็ก
ข้างในเป็นนิทานของคุณยาย(ของ)พราว
ลายเส้นสวย น่ารักดีทั้งสองเล่ม

พฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2554

ในที่สุดก็ได้รับออร์กาไนเซอร์คู่ใจมาใช้ก่อนถึงกลางเดือนมกราคม
ดีใจ และ ถูกใจที่สุด

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

มานี่ : ลูกแมวโตไว






มาอยู่ด้วยกันยังไม่ถึงสองเดือน
มานี่ตัวใกล้โตเท่าพี่หมาน่อยแล้ว

cat's portrait





อาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2554

มานี่ บางทีก็ยอมอยู่นิ่งๆ

วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

บ่นถึงออร์กาไนเซอร์ ออร์กาไนเซอร์ก็มา



เล่มใหญ่โตแบบนี้ สงสัยจะพกไม่ไหว



เมื่อวานบ่นดังไปหรือเปล่า
วันนี้คุณพี่ที่ทำงานเลยให้สมุดออร์กาไนเซอร์มาใช้สมใจปรารถนา

ป.ล. อวด Quote ค่ะ ไม่ได้อวดของ

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

อยู่ง่ายกินง่าย




อังคารที่ 4 มกราคม 2553

น้องไม่ยอมไปทำงาน เลยมาเฝ้า รอพี่เลิกงาน แล้วไปกินข้าวกัน
แถวนี้ก็พอมีของกินบ้าง ถ้าไม่ใช่อาหารญี่ปุ่นก็นี่แหละ
Anyonhaseyo ร้านอาหารเกาหลีข้างตึกชิโน-ไทย
รสชาติพอลุ้น คือบางทีอร่อย บางทีไม่ แต่วันนี้โอ

ขากลับเดินผ่าน Prime Building เลยชี้ให้น้องดูว่าเค้กร้านนี้อร่อย
น้องเลยชวนเข้าไปดู เห็นแล้วจะกลับออกไปเฉยๆ ได้ไง
เลยสั่ง Praline ที่เคยมีวาสนาได้กินมาชิมกัน 1 ชิ้น

รสชาติ รอคุณน้องมาบรรยาย