วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

Midnight in Paris: สุขกับปัจจุบัน

Rating:★★★★
Category:Movies
Genre: Romantic Comedy

คนเรานี่ก็แปลก ตัวอยู่ตรงนี้แต่ชอบปล่อยให้ใจล่องลอยไปโน่นมานี่ อนาคตบ้าง อดีตบ้าง

บางคนก็มีหวังกับอนาคต แต่มีไม่น้อยเลยที่อาลัยอดีต ฉันเองก็ยังเป็นวันละหลายๆ หน เวลาเปิดวิทยุเจอซาวนด์แห่งยุคสมัยแล้วพานนึกถึงความเรียบง่ายที่บอกเล่าความรู้สึกอย่างซื่อสัตย์ของเพลงแจ๊สเก่าๆ ซึ่งเมื่อใดที่ได้สัมผัสความรู้สึกเนื้อๆ ของเครื่องดนตรีและเสียงร้องแล้วก็พานอยากเกิดในยุคนั้น ได้แต่งตัวประณีตงดงาม ทำผม ทาปาก ไปนั่งคีบบุหรี่ ฟัง live ในบาร์เก๋ๆ แห่งยุค หรือบางทีเวลาที่อ่านแม่พลอยแล้วก็อยากมีชีวิตแบบสาวชาววัง หรือเวลาอ่านนิยายที่เขียนขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อนของสุวรรณี สุคนธา ก็อยากจะมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่ยังมีทุ่ง มีดอกไม้ มีน้ำสะอาด แบบในยุคนั้นบ้าง

เพราะว่าเป็นคนช่างฝันเวิ่นเว้อแบบนี้ละมัง ถึงถูกใจนักกับหนังที่ Woody Allen เหน็บแนมว่าคนเราไม่ว่าจะเกิดในยุคสมัยไหนก็มักจะโหยหาวันวานเสมอ จึงไม่มีใครพอใจในยุคสมัยของตัวเอง

ลุงแสดงทัศนะที่ว่าออกมาอย่างมีศิลปะผ่านหนังเรื่องนี้

ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นเพราะลุงสูงวัยแล้วหรือเปล่า? ไม่แน่ใจนัก รู้แต่ได้ดูแล้วว่ามันใช่เลยค่ะลุง คนเราไม่เคยพอใจในสิ่งที่อยู่ในมือ รักครั้งนี้ไม่เคยยิ่งใหญ่สะเทือนใจเท่ารักครั้งที่ผ่านมาแล้ว ประดิษฐกรรมยานยนต์สปอร์ตรุ่นปีนี้ไม่เคยงดงามคลาสสิกเท่าสมัย 1970’s ดนตรีปีนี้ไม่ได้แสดงความสามารถของนักร้องและนักดนตรี หรืออย่างน้อยก็สื่อความคิดได้ไม่เคยแหลมคมเท่าดนตรียุค 1960’s ฯลฯ เราชินกับการเปรียบเทียบทั้งๆ ที่ หลายอย่างเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เราโหยหา ทั้งๆ ที่รู้ว่า ไม่มีโอกาสได้ครอบครอง

หนังของลุงจึงสะกิดใจยิ่งนักให้เรามองปัจจุบันของเราให้ดี ให้ใช้ชีวิตอยู่ที่ปัจจุบัน อิ่มเอม มีความสุข เจ็บปวด หมดหวัง และมีความหวังอีกครั้งกับชีวิตขณะนี้ ก่อนที่มันจะผ่านไป กลายเป็นอดีต เพื่อให้เราได้แต่โหยหามัน


หมายเหตุ:
•หนังเรื่องนี้ไม่ใช่การอุทิศให้ หรือเป็นไดอาลอกแทนใครเลย นอกจากลุงอัลเลน ฉันดู Owen Wilson เล่นเป็น Gil แล้วก็ยังนึกถึงว่าถ้าเอาหน้าลุงมาแปะ พ่อโอเว่นก็คือลุงนั่นแหละ พูดแบบนี้ ท่าทางอย่างนี้ เคยเห็นลุงเล่นในหนังเมื่อตอนหนุ่มๆ ฉันจำได้
•มีผู้กำกับสักกี่คนที่เซ็นชื่อตัวเองลงไปในหนังชัด อย่างลุง? ว่ามาตั้งแต่เพลงไตเติล โหมโรง ไปจนถึงเอนไตเติลโน่นเลย (ฉันปลื้มนะ)
•ใครประชดเฮมมิ่งเวย์ได้เจ็บชัดขนาดนี้มั่งคะ
•สะใจมากตอนลุงด่าพวกเกรียนอวดรู้
•ชอบทัศนะเกี่ยวกับนักเขียนและงานเขียนของลุงที่ให้เกอร์ทรูด สไตน์พูด
•แน่นอนว่าดูหนังเรื่องนี้แล้วอยากไปเดินเชื่องช้ากลางสายฝนในปารีสอย่างเป็นที่สุด


ฟินเล็กๆ



หัดเย็บกระโปรงตัวแรกเมื่อไหร่จำไม่ได้แล้ว เป็นได้ว่าอาจจะเคยเกิดขึ้นสมัยมัธยม ตอนเรียนวิชาเย็บผ้า (วิชาการงานพื้นฐานอาชีพ? ที่บางครั้งเราต้องทำอาหาร และแบกจอบไปพรวนแปลงผัก??) ความทรงจำเกือบไม่เหลือ งั้นก็อย่าไปนับว่าเป็นกระโปรงตัวแรกเลยนะ

ไปแม่สอดเมื่อสักเกือบ 10 ปีที่แล้ว แวะตลาดริมเมย ซื้อผ้้าโสร่งพม่ามาผืนนึง ก็เกิดเฟื่องคิดว่าผ้าผืนนี้เอามาเย็บกระโปรงบานๆ รูดมาผูกที่เอวก็น่าจะได้ ฉันทำได้ ก็ลงมือเย็บด้วยเข็มกับด้าย ง่ายๆ ภูมิใจชะมัด แต่ใส่ไม่สวย มันพองเกินไป งั้นก็อย่าไปนับว่ากระโปรงตัวนั้นเป็นตัวแรกอีกเลย

เกือบได้เย็บกระโปรงตัวแรก เป็นกระโปรงทรงเอที่สร้างแบบจากทรงของตัวเองเมื่อต้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว ตอนที่สมัครไปเรียนฟรีกับศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. เรียนก้าวหน้าไปจนถึงตอนจะติดซิป หมดชั่วโมงเสียก่อน แล้วหลังชั่วโมงนั้นก็ไม่ได้ไปเรียนอีกเลย จากวิกฤตสติแตกหอบแมวหนีน้ำท่วม (ซึ่งที่สุดแล้วก็มาไม่ถึง) ไปฝากแม่ที่สุราษฎร์ฯ

ซากกระโปรงตัวนั้นยังอยู่เตือนให้ช้ำใจถึงวันนี้

แต่เมื่อเดือนที่แล้ว ไปได้หนังสือแบบตัดกระโปรงง่ายๆ มาจากคิโนะคุนิยะ เป็นหนังสือแปลจากญี่ปุ่น ก็คว้ามาด้วยความดีใจ แล้วก็ดองเก็บไว้ประสาบ้าสะสมตำรา มาเกิดนิมิตเมื่อสองสามคืนก่อน ว่าอยากลองตัดกระโปรงสักทีแล้ว ผ้ามี ซิปก็น่าจะมี แล้วก็เลยเปิด เลือกแบบ

แบบแรกที่เลือกไม่ใช่แบบที่ง่ายที่สุด (ซึ่งน่าจะเ็ป็นกระโปรงทรงตรงเข้าเอวด้วยยางยืด) แต่เลือกเอาจากแบบที่ไม่ยากไป และคิดว่าน่าจะได้ใส่ แถมยังเฉไฉ ไม่ทำตามที่เขาบอกเป๊ะๆ เสียอีก

สนุกและได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการลงมือตัดกระโปรงตัวแรกตามหนังสือบอก โดยเฉพาะ 

ข้อแรก: หนังสือเล่มนี้ดีมาก บอกขั้นตอนชัดเจน รูปประกอบเลิศ ให้กำลังใจอยู่ในที (ไม่ใช่ด้วยคำพูด แต่ด้วยความรู้สึกที่เกิดเวลาอ่านพร้อมทำความเข้าใจไปพร้อมกันว่า ไม่ยากหรอก ทำได้)

ข้อสอง: ตีนผีติดซิปใช้ไม่ยากนี่หว่า (ได้จักรมาจะครบปี เปิดซิงตีนติดซิปก็คราวนี้)

ข้อสาม: (สำคัญมาก) ถ้าเอาแต่คิดว่าอยากทำ แต่ไม่ลงมือทำเสียที มันก็ไม่ได้ทำเสียทีนั่นแหละ!