วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โคะโคะโระ

Rating:★★★★
Category:Books
Genre: Literature & Fiction
Author:นะทซึเมะ โซเซะคิ



ได้หนังสือเล่มนี้มาอ่านด้วยความอนุเคราะห์ (ให้ยืม) จากม่อน (commonperson) เพื่อนมัลติพลายที่คุยกันมาพักใหญ่โดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญให้เป็นคอนแทกกัน

เข้าใจว่าม่อนจัดหนังสือเล่มนี้มาให้ เพราะรู้ว่าฉันเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ แต่ตัวเขาจะกินใจกับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้แค่ไหน และอย่างไร รอเขามาบอกเองน่าจะดี

‘โคะโคะโระ’ เป็นวรรณกรรมซึ่ง นะทซึเมะ โซเซะคิ เขียนขึ้นในปี 1914 ..เกือบร้อยปีมาแล้ว เรื่องความคลาสสิกและการยอมรับจากคนอ่านญี่ปุ่นแทบไม่ต้องพูดถึง หนังสือเล่มนี้ได้รับเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กนักเรียนมัธยมปลาย (ไม่แน่ใจว่านานกี่สิบปี)โดยคัดเลือกบทสุดท้ายในจำนวนทั้งหมด 3 บทของหนังสือเล่มนี้

โคะโคะโระ ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง ‘หัวใจ’ รู้อย่างนี้อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเป็นนวนิยายโรแมนติก หวานแหววดาษดื่น ความรักที่เขาเล่าไว้ในเรื่องมีรสชาติขมขื่น ด้วยคมมีดขูดลึกเป็นแผลเรื้อรังที่กลางใจ และพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งไปในที่สุด

ไม่ต้องอาศัยความรู้ภาษาญี่ปุ่นหรอก อันนั้นฉันมีน้อยจนแทบใช้อะไรไม่ได้ แต่พอนึกเอาเองได้ว่าที่โซเซะคิตั้งชื่อหนังสือว่า โคะโคะโระ เพราะนี่เป็นการเปิดเปลือยหัวใจผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งมีวิถีชีวิตแปลกประหลาด โดดเดี่ยวตัวเองจากสังคมด้วยการไม่ทำงานเป็นหลักแหล่ง ไม่คบหาสมาคมกับผู้คน เก็บตัวใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่กับบ้าน กับภรรยาและหญิงรับใช้อีกคน

ทุกๆ เดือน ชายคนนี้จะต้องไปเคารพหลุมศพของคนคนหนึ่งตามลำพัง เราจะพูดว่า กิจกรรมนี้นับเป็นวัตรปฏิบัติที่เป็นเรื่องเป็นราวและสำคัญที่สุดในชีวิตไร้แก่นสารของเขาเลยก็ได้

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเขาทำให้คนในหลุมนั้นต้องตายนั่นเอง

คนเราเกิดมาแล้ว ไม่ว่าจะยากดีมีจน มีอวัยวะครบถ้วนหรือไม่ ผิดเพศหรือไม่ผิดเพศ เกิดเป็นอัจฉริยะ หรือโง่ทึบ ก็ควรจะมีชีวิตที่ผ่านครบทั้งรสหวานหอมซ่อนเปรี้ยว เผ็ดบ้าง เค็มบ้าง มันบ้าง ฝืดบ้าง สลับกันไป ได้สัมผัสกับความรู้สึกสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เครียดบ้าง แต่ก็มีความหรรษาและตื่นเต้น รื่นรมย์ในบางที แต่ทำไมผู้ชายคนนี้ถึงต้องลงโทษตัวเองให้มีชีวิตที่มีโอกาสพบแต่ความขม ขื่น ข้นคลั่ก คาวราวกับกระอักเลือดในอกขึ้นมากลบในปาก แสงอาทิตย์ของผู้ชายคนนี้ไปซ่อนอยู่ที่ไหน ทำไมถึงทิ้งไว้แต่ความหนาวเยียบ อับชื้น ที่รังแต่จะทำให้ชีวิตขึ้นรา

อะไรที่ทำให้แม้แต่ความรักซื่อสัตย์จากคนสวยผู้เรืองราศีผ่องใสเช่นภรรยาของเขาไม่อาจเยียวยา หรือแม้แต่จะช่วยฉุดรั้งจากความหมองหม่นที่กดเขาให้จมอยู่กับก้นบ่อ ให้ลอยขึ้นมามองเห็นโลกโดยไม่ต้องผ่านผืนน้ำสกปรกในบ่อได้

ฉันอ่านเรื่องของเขาแล้วแสนเวทนาสงสาร โอเค เนื้อตัวคนเรามีบาดแผลจากการกระทำของคนอื่นทั้งนั้น แต่การที่เราถูกคนคนหนึ่งทำร้าย ไม่ได้แปลว่าโลกทั้งใบทำร้ายเรา แล้วเราต้องแก้แค้นกับคนทั้งโลกสักหน่อย

อีกเรื่องคือความรัก ฉันคิดแบบฉันว่าความรักเป็นเรื่องของการให้ ถ้าเรารักเขา เราก็ให้ความรักไป ถ้าเขารักเรา เขาก็ให้ความรักมา ถ้าเรารักกันมันถึงจะดี เพราะต่างคนต่างให้ และต่างคนต่างรับ

ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน เป็นเรื่องของใจที่ตรงกัน ถ้าใจเขาไม่ตรงกับเรา แต่ไปตรงกับคนอื่น ก็ต้องทำใจ ไม่แย่ง หรือไม่เกเร เพราะอย่างน้อย เราต้องอยู่ต่อไปอย่างรักตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง ถึงเราจะไม่ได้รับการเลือก อย่างน้อยเราก็จะได้ภูมิใจที่เราเคารพการเลือกของคนที่เรารัก

ที่คิดแบบนี้ได้ คงเป็นเพราะฉันโต (มาก) แล้ว ผ่านโลกมาเยอะ เห็นอะไรมาเยอะแล้ว คิดมาเยอะแล้ว ถ้าตอนที่เกิดเรื่อง ‘เขา’ โตกว่านั้น หรือถ้าเพียงแต่ ‘โลก’ของเขาไม่ได้ปิดแคบแบบที่เป็น แต่เปิดต้อนรับความรักความหวังดีจากมนุษย์รอบตัวบ้าง รังสีเมตตาอารีอาจจะพอให้แสงสว่างและความอบอุ่น ช่วยกล่อมเกลากมลความคิดของเขาให้คลายความเคียดแค้นจนอ่อนโยน รู้จักให้อภัยและเริ่มต้นใหม่ได้

หากเขาไม่โดดเดี่ยวอย่างนั้น ชีวิตของเขาคงไม่จบแบบนี้
ฉันคิดอย่างนั้นนะ




บันทึก:
• นิยายเรื่องนี้โคตรมาโซเลย อ่านแล้วทั้งอึดอัด ทั้งหดหู่ ดีนะ ที่มาอ่านเอาตอนแก่แล้ว
• อาจจะเป็นด้วยการแปลจากสำนวนภาษาที่เขียนขึ้นเมื่อเกือบร้อยปีก่อน โดยอาจารย์ ภาษาญี่ปุ่น ดร.ปรียา อิงคาภิรมย์ และดร.กนก ศฤวคารินทร์ ซึ่งขณะที่แปลยังเป็นนักศึกษา ป. เอก ภาษาญี่ปุ่น และอาจจะรวมทั้งอัตลักษณ์ของโซเซะคิเองด้วย ที่ทำให้ โคะโคะโระ ฉบับแปลนี้ จัดเเป็นหนังสือที่อ่านยากเอาการ โดยเฉพาะสองบทแรก ปราบเซียนชัดๆ ใครอึดไม่พอ หมดความอยากรู้ หมดความมานะ แป้ก ถอดใจ วางเสียก่อน จะไปไม่ถึงบทที่สาม ซึ่งเป็นจุดพีคของเรื่องทั้งหมด และเมื่อไปไม่ถึงบทที่สาม ก็เท่ากับหมดโอกาสทำความเข้าใจกับเรื่องราวทั้งหมดที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้น
• ฉันเชื่อว่า โคะโคะโระ ฉบับภาษาญี่ปุ่นก็คงไม่ได้เป็นหนังสือที่อ่านง่าย แต่บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่อาจจะพอเหลือสิ่งเชื่อมโยงกันได้ ฉันว่า คนญี่ปุ่นจะอ่าน โคะโคะโระ ได้เก็ตดี เก็ตง่ายกว่าคนไทยอ่านฉบับแปล เช่นเดียวกับคนไทยอ่านข้างหลังภาพ เราย่อม (น่าจะ) หวังผลได้ดีกว่าคนญี่ปุ่นอ่านข้างหลังภาพฉบับแปล ..หวังว่านะ
• ฉันเอง ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เลยขาดความอินกับความเกี่ยวเนื่องเรื่องยุคสมัย ที่ว่ากันว่าเป็นอีกแรงกดดันหนึ่งที่กระทำต่อตัวละคร และการเปลี่ยนยุคสมัยก็เป็นจุดหักเหให้เขาเลี้ยวชีวิตลงเหวอย่างที่เขียนไว้ในเรื่อง แต่นี่แค่อ่านโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ก็ยังหดหู่ขนาดนี้เลย คิดดูสิว่าคนอ่านญี่ปุ่นที่มีความ relate กับยุคสมัยเดียวกับที่หนังสือเขียนขึ้นจะอินขนาดไหน (นึกเปรียบเทียบความอินกับชีวิตแม่พลอยของเรากับแม่เราดูเล่นๆ ก็ได้ )
• หลังจากพิชิตโคะโคะโระได้ ฉันรู้สึกฮึกเหิมมาก เกิดแรงบันดาลใจ หยิบ ‘รอยชีวิต’ ของเคนซาบุโร โอเอะ นักเขียนโนเบล ที่อ่านแล้วมืดมนอนธกาลพอกันจนต้องหยิบ-วาง หยิบ-วาง อยู่หลายปี ขึ้นมาอ่านใหม่ (ตอนนี้รู้สึกสนุกแล้วด้วยแหละ)
• มันน่าคิดจริงๆ ว่าเขากับเพื่อนของเขามี something กันหรือเปล่า ทำไมถึงได้แคร์กันมาก แล้วก็ทำไมแค่ผู้หญิงคนเดียว เพื่อนถึงให้เพื่อนไม่ได้ หรือเพราะว่าเพื่อนไม่อยากให้เพื่อนได้ผู้หญิง? (คิดแบบมาร-อิอิ)
• ขอขอบคุณเจ้าของหนังสืออีกครั้ง ถ้าสภาพในวันส่งคืนออกจะเยินไปเยอะ หวังว่าจะได้รับการอภัย กว่าจะอ่านจบต้องหอบหิ้วกันอยู่นาน ทั้งน้ำ ขนม และน้ำลาย ทิ้งรอยไว้ในหนังสือเธอเพียบเลย ม่อน เออ..แล้วต่อให้มี ผ ญี่ปุ่นคอยสอนให้อ่านก็ใช่ว่าจะอ่านฉบับภาษาญี่ปุ่นเข้าใจได้ง่ายๆ นะเธอ


14 ความคิดเห็น:

  1. ม่อน นี่ ช่างสรรหา

    ม้อย ก็ช่างเล่า เหมือนพี่อ่าน สารคดี, บทความ , บทวิจารณ์

    ปล.ยกยอกันเห็น ๆ

    ตอบลบ
  2. มันเหมือนว่าเป็นภาระิัอะ
    เขาให้ยืมอะไรมาดู ให้ยืมอะไรมาอ่าน ก็ต้องเขียนรายงาน

    ..เคียดเหมือนกันนะ

    ตอบลบ
  3. คนมีความรับผิดชอบก็งี้แหละ

    น่าคบ 555

    ตอบลบ
  4. ความรู้สึกตอนอ่าน โคะ โคะ โระ
    ผมว่ามันเป็นงานที่ละเมียดนะ อ่านได้อย่างลื่นไหลไปเรื่อยๆ
    ในขณะที่ผมอ่านงานของคาวาบาตะ ไม่เคยจบ

    แปลกใจที่บางคนอ่าน โคะ โคะ โระ แล้วอึดอัด
    คงเป็นความรู้สึกที่เหมือนตอนผมอ่านงานของ
    คาฟกา, กามูส์,หรือ เบ็คเก็ตต์ กระมัง

    รอยชีวิตของ โอเอะ ก็ว่าจะเริ่มอ่านอยู่เหมือนกัน
    งานของนักเขียนญี่ปุ่นอีกคนที่ผมชอบมากคืองานของ
    ริวโนะ สุเกะ อะคุตะงะวะ
    หน่ัะครับ

    ตอบลบ
  5. เธออ่านอะไรเบาๆ อย่าง บานานา ได้มั้ยอะ

    ตอบลบ
  6. ไม่เชิงอึดอัดนะ แต่มันหม่นหมองน่ะ

    เหมือนมองภาพคน "ลงโทษตัวเองอย่างเคร่งครัด"
    อะไรอย่างนั้นน่ะ

    ตอบลบ
  7. เคยอ่าน หญิงสาวผู้หวาดกลัวความสุข
    เล่มเล็กๆ บางๆ ก็เพลินดี

    ตอบลบ
  8. เล่มนั้นชอบภาพปกมากมาก
    ไม่น่าเชื่อว่าตั้มจะเขียนมะม่วงได้แจ่มใสขนาดนั้น

    ตอบลบ
  9. ซื้อหนังสือเล่มนี้มานานแล้ว แต่ยังไม่มีเวลาหยิบมาอ่านซะที

    เขียนรีวิวได้ดีค่ะ ขอบคุณที่เอาความคิดเห็นมาแชร์กัน
    เห็นด้วยว่าอายุทำให้มุมมองต่อชีวิตและหนังสือเปลี่ยนไป

    ตอบลบ
  10. ขอบคุณค่ะ
    ได้อ่านเมื่อไหร่แวะมาคุยกันอีกนะคะ ^_^

    ตอบลบ
  11. อืมมมม หม่นหมอง ใช่คำนี้จริงๆดด้วย

    ตอนที่ปิ๋มอ่านเล่มนี้จบเมื่อนานปู๊นนนนนนน รู้สึกว่าอ่านแล้วมันให้ความรู้สึกหนักๆ กดทับ ไม่สบายใจยังไงไม่รู้ ตอนนั้นอ่านแล้วบอกไม่ถูก เหมือนจะเข้าใจ แต่ไม่เข้าใจ และไม่อยากอ่านซ้ำ


    ตอนนี้เข้าใจความรู้สึกตอนนั้นแล้ว คำตอบอย่างที่พี่ม้อยว่าจริงๆ มันเป็นหนังสือที่พออ่านแล้วอินไปกับตัวละคร มันทำให้หม่นหมองตามไปด้วย

    ตอบลบ
  12. น้องปิ๋มนี่เจ๋งเนอะ
    อายุเท่านี้อ่านหนังสือยากๆ ไปตั้งเยอะแล้ว
    ใช้ได้เลยนะเนี่ย

    ตอบลบ
  13. เรื่องนึงที่โชคดีมากของปิ๋มคือ การเกิดมามีแม่เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด และมีพ่อเป็นครูภาษาไทยค่ะ ก็เลยได้อ่านหนังสือเยอะมาตั้งแต่เด็ก

    พอ ป.ตรี รูมเมทปิ๋มก็เรียนละครอีก เค้าก็จะยืมหนังสือวรรณกรรมทุกประเภท ทั้งแนวอ่านยากและอ่านง่ายมาอ่านเยอะมากๆ (เพื่อหาหัวข้อทำละครตอนสอบจบ) เด็กหออย่างปิ๋มก็เลยอ่านกันซะตาฉ่ำเลยทีเดียว

    ตอบลบ
  14. เป็นสิ่งแวดล้อมที่เริ่ดมากเลยปิ๋ม

    ตอบลบ