เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ได้จัดเสวนาเรื่อง "ทัศนคติของสังคมต่อเรื่องท้องไม่พร้อม" ขึ้นเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเฟิร์ส ถ.เพชรบุรี โดยมี รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.เมทินี พงษ์เวช ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี นายตุล ไวฑูรเกียรต์ นักร้อง นักแต่งเพลง ศิลปินวงอพาร์ทเม้นต์คุณป้า และ น.ส.อุษาสินี ริ้วทอง หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ทางสังคมองค์การแพธ พร้อมด้วยองค์กรทุกภาคส่วนเข้าร่วมเสวนา
เริ่มด้วยการกล่าวถึงสถานการณ์การทำแท้งในประเทศไทย โดย รศ.ดร.กฤตยา กล่าวว่า การทำแท้งของผู้หญิงทั่วโลกนั้นมีมายาวนานแล้ว แต่ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่ปัจจุบันกลับมองว่า ผู้หญิงเป็นจำเลยเพศเดียวที่ทำแท้ง ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีผู้หญิงคนไหนที่ตั้งใจท้องเพื่อไปทำแท้ง รวมถึงการทำแท้งเสรีไม่มีบนโลกนี้ เพียงแต่ว่า คนเราเวลามองการทำแท้งนั้นเป็นเรื่องของศาสนา ความรู้สึกบาปในจิตใจ แต่แท้จริงแล้วอยากให้มองเรื่องสุขภาพของผู้หญิงที่ทำแท้งมากกว่า 97% ทั่วโลก อนุญาตให้มีการทำแท้งเพื่อรักษาชีวิตของผู้หญิง ไม่ใช่การทำแท้งเสรี ซึ่งทุกอย่างมันต้องมีเงื่อนไข การทำแท้งเสรีไม่มีในโลกนี้ แต่ในเมืองไทยที่มี คือการทำแท้งเสรีของคนที่มีสตางค์ มีข้อมูล ดังนั้น เรื่องท้องๆ แท้งๆ เกี่ยวกับสุขภาพของผู้หญิงที่สังคมต้องร่วมกันดูแล
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต่อว่า อยากให้เปลี่ยนมุมมองทัศนคติเสียใหม่ว่า ผู้หญิงที่ท้องและทำแท้งแท้จริงแล้วเขาไม่ใช่อาชญากร กม.การทำแท้งเป็นกม.เก่า มีการเสนอให้แก้ไขมาตรา 305 ซึ่งเป็นกม.อาญา มาตลอด แต่ก็ยังไม่เป็นผล กฎหมายนี้เป็นกฎหมายใจร้าย เพราะผู้หญิงกระทำต่อร่างกายตัวเองแล้วเป็นอาชญากรคิดได้อย่างไร
"คนจนขายกระดูกซี่โครงตัวเองเพื่อให้ ผู้หญิงอีกคนไปทำจมูก เขาผิดไหม เพราะนั่นเป็นส่วนนหึ่งของร่างกายเขา คนฆ่าตัวตาย ติดตารางไหม ตัวอ่อนที่อยู่ในร่างกายของผู้หญิง ยังไงก็เป็นส่วนนหนึ่งของร่างกาย เพราะฉะนั้นการที่ผู้หญิงเขาจัดการกับร่างกายของตัวเอง แล้วต้องติดคุก มันใจร้ายไหม มันก็มีแต่ทำให้เกิดปัญหา เพระาฉะนั้นคิดว่าต้องเปลี่ยนมุมมองของสังคมในเรื่องนี้ ว่าเขาไม่ใช่อาชญากร แต่ไม่ใช่แก้ตรงนี้อย่างเดียว ต้องแก้ที่จุดอื่น จริงๆ อยากให้ยกเลิกกฎหมายนี้เหมือนกัน แล้วร่างกฎหมายใหม่ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับผู้หญิงที่ท้องแล้วมีปัญหา ขณะนี้หวังว่า เรื่องดังกล่าวจะเข้าไปอยู่ในพรบ.อนามัยเจริญพันธุ์ฯ แต่ นายกรัฐมนตรี ก็บอกให้ยกเรื่องนี้ออกไปก่อน มันร้อน อยากจะเรียนว่า เรื่องการทำแท้งเป็นเรื่องร้อนของนักการเมือง ประเทศไทยไม่มีนักการเมืองสักคนที่จะลุกขึ้นมายืนแล้วต่อสู้สิทธิให้กับ เรื่องอย่างนี้ ในทางส่วนตัวมีมาบอกว่าสนับสนุน แต่ในทางสาธารณะพูดออกไม่ได้กลัวจะเสียคะแนนเสียง สังคมไทยสามารถทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้ อดีตไม่มีการเอาผิดกับผู้หญิง สิ่งที่ต้องการเปบลี่ยนแปลง อยู่ที่พวกเราทุกคน เพื่อให้มีทางเลือก เราอยากให้ทารกทุกคนเกิดมาด้วยความพร้อมและความต้องการ ซึ่งจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี " รศ.ดร.กฤตยา กล่าว
ด้าน ตุล อพาร์ทเม้นต์คุณป้า ตัวแทนเยาวชนวัยรุ่น ซึ่งพูดถึงประเด็น ผู้ชายหายไปไหน....เมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อมว่า เมื่อ ผู้หญิงท้องภาระทั้งหมดก็ต้องตกมาที่ตัวเอง ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ไม่ได้วางแผน หรือความมักง่ายของผู้ชาย ที่เลือกจะหนีปัญหาหลายๆ ครั้ง ปัญหาผู้หญิงที่ไปทำแท้งในที่ๆ ไม่ปลอดภัย มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับตัวกฎหมายเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องความกดดันของสังคม ไม่ได้มองว่า ไม่มีใครรรับฟัง โดยเฉพาะฝ่ายชาย หรือบางกรณีรับฟังก็เรียกร้องให้มีการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่ง ปัญหาที่มันเกิดขึ้นก็คือความต้องการของคนสองคนแล้วไม่รับผิดชอบร่วมกัน กรณีการพบซากตัวอ่อนทารกเป็นพันๆ ราย ในวัดไผ่เงินฯ ที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศนั้น สำหรับตนมันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาตื่นตกใจ เพราะการทำแท้งมันเป็น เรื่องที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวตลอดเวลา และเป็นสิ่งที่สื่อประโคมข่าวให้ความสนใจแค่ช่วงสั้นๆ แต่พอผ่านไปแล้ว เรื่องที่สื่อนำเสนอไปจะช่วยอะไรให้กับสังคมได้หรือไม่
นักร้อง นักแต่งเพลงชื่อดัง กล่าวอีกว่า วัยรุ่นเรียนรู้เรื่องเพศจากกลุ่มเพื่อนมากกว่าคนในครอบครัว เพราะมันมีความไม่กล้าที่จะคุยกันในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะพ่อ แม่ และลูก แต่ถ้าถามว่า วัยรุ่นรู้วิธีการคุมกำเนิด ป้องกันโรคติดต่อ หรือไม่ ตอบได้เลยว่า พวกเขารู้ แต่มันก็จะมีความเขินอายเป็นประเด็นใหญ่ที่ยากจะขจัดไป อย่างการใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่นการไปซื้อถุงยางอนามัย ที่ต้องฟันฝ่าสายตาจากคนที่มองมาอีกด้วย ดังนั้น สิ่งนี้ มันจึงเป็นประตูสำคัญ กำแพงที่หนาในการเข้าถึงการคุมกำเนิดไม่ได้ เรียกง่ายๆว่า คนไทยเรายังคงอยู่ในสังคมที่ ไม่กล้าพูดความจริงมากกว่า ส่วนความรู้สึกบาปบุญมันฝังในหัวคนไทยหรือคนทั้งโลกมานาน จึงเป็นเรื่องยากที่จะตอบคำถามหรือหาทางออกให้กับเรื่องการทำแท้งเป็นอย่าง มาก อยากให้มองว่า การคุยเรื่องเพศศึกษาไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย
ขณะที่ มุมมองของการทำงานด้านการป้องกัน ขององค์การแพธ น.ส.อุษาสินี กล่าวว่า ทางแพธ ได้มีการขยายการให้ความรู้ การสอนเพศศึกษาให้คนเกิดการป้องกัน หรือชะลอการมีเพศสัมพันธ์โดยตลอดไปยังโรงเรียน และสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้กับวัยรุ่น ทั้งนี้ พบว่า มีแผนกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้น ม. 5 ที่ชื่อว่า "บทเรียนเขียนชีวิต" ก็พบว่า บทเรียนดังกล่าวไม่ได้มีการหยิบยกเอามาสอนเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการตั้งครรภ์และทำแท้งมาสอนเด็กเลย ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก ครู ส่วนใหญ่มักไม่เลือกที่จะเสนอประเด็นการทำแท้งในการสอนเพศศึกษา แต่เลือกที่จะหยิบเอาเรื่องบาปมาสอน ทำให้ยังไม่ก้าวข้ามประเด็นอื่นๆ เช่น วัยรุ่นหญิงชายจะทำอะไรได้บ้างเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะทำแท้ง หรือต้องการได้รับความช่วยเหลือแบบไหน มีเพียงแต่ห้ามไม่ให้ทำแท้ง หรือห้ามไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความช่วยเหลือแก่คนรุ่นใหม่ให้เขาได้รับความรู้อย่าง ถูกต้องและเหมาะสมในเรื่องเพศศึกษา เพื่อให้หลุดออกจากมายาคติที่สังคมได้สร้างกรอบไว้
"เราต้องทำหน้าที่ต่อไป ทำอะไรที่จะเปลี่ยนมุมมอง ความรับผิดชอบที่ปลอดภัยต่อวัยรุ่นได้บ้าง การพยายามของเราไม่เพียงแค่ให้ข้อมูลอย่างเดียว แต่ยังมีการให้ข้อมูลความรู้ในระบบการศึกษา เป็นประเด็นที่ท้าทายมาก พบว่า โรงเรียนขนาดใหญ่ หรือโรงเรียนในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องยากที่จะผลักดันการเรียนเพศศึกษาให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเขาจะเน้นให้เด็กมีความเป็นเลิศทางวิชาการมากกว่าที่จะสอนทักษะ ชีวิตให้เด็ก ขณะที่โรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดเล็ก เขตนอกเมือง ปรากฎว่ามีหลายที่สามารถจัดกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง เป็นคำถามใหญ่ในสังคมว่า เป้าหมายใหญ่ คือเราจะให้เด็กเกิดการเรียนรู้ หรือให้เด็กมีทักษะในการประกอบวิชาชีพ"
พร้อมกันนี้ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ทางสังคมองค์การแพธ ยังได้นำริบบิ้นที่ผูกเป็นโบว์สีดำมาแจกให้กับผู้ร่วมเข้าเสวนาทุกคน โดย กล่าวว่า "ขอไว้อาลัยให้กับความมืดบอดของสังคมพุทธด้วย เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่า เราจะเปลี่ยนความมืดเป็นความสว่างได้อย่างไร ถ้าเราไม่เปิดใจในเรื่องเพศ"
ส่วนดร.เมทินี ซึ่งดูแลในส่วนงานของบ้านพักฉุกเฉิน โครงสร้างทางเลือกสำหรับผู้หญิงท้องไม่พร้อม จากหลายๆ กรณี ระบุว่า ผู้หญิงที่เข้ามาอยู่ในบ้าน พบว่า หลายคนขาดความรู้ความเข้าใจค่อนข้างมากในเรื่องเพศศึกษา ซึ่งทางเราก็พยายามให้ความช่วยเหลือ สร้างความเข้าใจให้คนเหล่านี้เกิดความพร้อมในหลายๆอย่าง มีการแนะนำหญิงที่ท้องไม่พร้อม ทำยังไงให้แม่ที่ไม่พร้อม พร้อมที่จะเลี้ยงลูกได้ หรือ เด็กผู้หญิงบางคนยังเรียนหนังสือไม่จบ ก็มีการใช้เงินจากการการรับบริจาค ต่างๆ ที่ได้มาไปให้พวกเขาได้รับการศึกษาเพื่อให้เรียนจบ หลายคนพบว่า สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีอาชีพที่ดี ซึ่งทางสหทัยมูลนิธิก็ให้ความช่วยเหลือกับทางบ้านพักฉุกเฉินมาโดยตลอด ระหว่างนี้ สิ่งที่สำคัญ คือการทำงานกับผู้ปกครองของผู้หญิงเหล่านั้น เป็นอะไรที่ยากและท้าท้ายมาก
"อยากเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ จริงจังเรื่องนี้ ครอบครัว โรงเรียน สื่อ ต้องช่วยกัน การป้องกันในโรงเรียนต้องทำจริง ซึ่งที่ผ่านมามันติดอยู่ที่ทัศนคติของครูบาอาจารย์ค่อนข้างมาก ไม่อยากให้ผู้หญิงเป็นจำเลยเพศเดียวจริงๆ เพราะว่า หลายครั้งทุกเรื่องเลย ผู้หญิงจะถูกตัดสินในกระบวนการสุดท้าย แต่ถ้าย้อนกลับไปดู จากประสบการณ์ที่บ้านพักฉุกเฉิน จะพบว่า หลายครั้งมันมีที่มาที่ไป หลายคนเป็นเด็กที่ถูกเหวี่ยง ไปอยู่กับคนนู้นคนนี้ คือเกิดมาจากความไม่พร้อมนี่แหละ แล้วนำไปสู่ปัญหา เด็กก็ตั้งคำถามว่า ให้หนูเกิดมาทำไม เกิดมาก็สร้างปัญหาให้กับสังคม นั่นเพราะพวกเขาไม่ได้รับความรักที่แท้จริง สังคมต้องเข้าใจและไม่ตัดสินก่อนที่จะไปรับรู้ว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร อย่างเช่นการทำแท้ง กฎกติกาที่ออกมาห้ามนู่นห้ามนี่ ท้ายที่สุดอยากจะถามว่า คนที่ต่อต้านสุดโต่งเอื้อมมือมาช่วยอย่างไรบ้าง ในขณะที่ผู้หญิงที่ทำตามกติกาของสังคม แต่ว่าเขาไม่พร้อมเลย และสุดท้ายก็ไม่มีคนเอื้อมมือมาช่วยอยู่ดี"
ตรงส่วนนี้ ตัวแทนของสหทัยมูลนิธิ ได้ร่วมให้ความเห็นว่า เท่าที่ทำงานกับเด็กและผู้หญิงมาตลอด ในเรื่องของการตั้งครรภ์แบบไม่พร้อม สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเป็นในส่วนของสังคมชนบท เมื่อท้องขึ้นมา จะกลัวพ่อแม่รู้และรับไม่ได้ ขณะที่ในสังคมเมือง บางทีพ่อแม่รู้ แต่ไม่สามารถรองรับปัญหาได้ เนื่องต้องปากกัดตีนถีบในการหาเลี้ยงชีพ จะมารับผิดชอบสมาชิกใหม่ก็ไม่สามารถทำได้ ถือว่าเป็นเคสที่หนักหนา หลายกรณีที่เห็นบ่อยๆ พอมีคนตั้งท้องมาหาเรา อยู่ในช่วงก้ำกึ่ง สิ่งแรกที่ทุกคนคำนึงคือเรื่องของศาสนา ที่ฝังอยู่ในหัวว่า ถ้าเอาเด็กออกจะบาปแค่ไหน เขาไม่ได้คิดถึงแง่กฎหมายว่าอนุญาตหรือไม่ หรือจะไปหาหมอ แต่เมื่อมีบางรายไม่สามารถเอาเด็กไว้ได้จริงๆ เนื่องด้วยปัจจัยจำกัดต่างๆ ของเด็กอาทิ สติปัญญาของผู้หญิงที่อาจจะไม่สมประกอบ ที่เขาไม่สามารถเลี้ยงเด็กได้ ทางเราก็ไปช่วยประสานติดต่อในหลายๆที่ที่ช่วยเอาเด็กออกให้โดยปลอดภัย แต่ เมื่อติดต่อไป ทางแพทย์ก็ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า กลัวบาป แล้วบอกว่า ให้ไปทำที่ไหนก็ไป อันนี้เป็นกำแพงของการทำงานที่จะช่วยผู้หญิงหรือเด็กที่ท้องไม่พร้อมจริงๆ มันทำให้ในสังคมไทยมีการต่อต้านทำแท้งเยอะ และมีมานานแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2524
แทนของสหทัยมูลนิธิ กล่าวเสริมต่อว่า ผู้ชายไม่รับผิดชอบ เมื่อทำผู้หญิงท้อง เท่าที่ทำงานมาพบว่า ไม่ใช่ผู้ชายไม่รับผิดชอบ บางคนก็มีความรับผิดชอบ แต่ที่บางคนหายไป เมื่อรู้ว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ นั่นคือการหนีไปตั้งหลักก่อน หายไปเลย แต่เมื่อตั้งสติได้ หลายรายที่กลับมารับผิดชอบ ครอบครัวของผู้ชายจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ผู้ชายรับผิดชอบ
"อยากฝากครอบครัวของผู้ชายด้วยว่า ถ้ามีกรณีอย่างนี้ ช่วยเปลี่ยนแนวคิดด้วยว่า เด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งท้องกับลูกชายตนเองไม่ใช่ผู้หญิงใจง่าย และไม่ใช่ผู้หญิงที่ไม่สมควรจะเป็นแม่ของหลาน"
ทางด้าน นายแพทย์ประจำคลินิกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ ตอบคำถามเรื่องผู้ให้บริกาปฏิเสธการให้บริการ ว่า ตั้งแต่มีการไปกวาดจับคลินิกทำแท้งยังที่ต่างๆ ทำให้สถานบริการที่เปิดให้มีการทำแท้งตามเงื่อนไข ได้รับผลกระทบกันไป แม้แต่สมาคมวางแผนครอบครัวฯ ต้องระวังตัว ส่วนที่ทางแพทย์ไม่ทำแท้งให้ผู้มีการร้องขอ จริงๆแล้ว ที่อ้างว่า กลัวบาปไม่ใช่หรอก ตนยืนยันว่า รพ.รัฐทุกแห่งปฏิเสธการทำแท้งทั้งที่สามารถทำได้ โดยแพทย์ผู้ให้บริการไม่มีความมั่นใจว่า มีกฎหมายคุ้มครองหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เรามาหาหนทางกันว่า จะขับ กม.มาตรา 301 ,305 ออกไปได้ดีกว่า
ตบท้ายด้วยตัวแทนจาก สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน กล่าวว่า ถ้ามีการช่วยเหลือหญิงที่ไม่พร้อม มันดีกว่าการที่ปล่อยให้เด็กเกิดมาแล้วเป็นปัญหาสังคมต่างๆ อยากจะบอกว่า ไม่มีผู้หญิงคนไหนในโลกนี้ที่อยากเป็นโสเภณี อยากทำแท้ง และอยากเป็นเมียน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ มีหลายปัจจัยด้วยกัน โดยเฉพาะเงิน การทำแท้งเสรีไม่มีในโลกนี้ ไม่มี มีแต่การทำแท้งที่ร้องขอ ประเทศรอบๆไทย จัดให้มีการทำแท้งอย่างถูกต้องตามวิธี เหลือแต่ไทยที่ยังถกเถียง หาทางออกกันไม่เจอ
"ผมเห็นด้วยกับการจัดการคลินิกที่ทำ แท้งเถื่อน เพราะเขาไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ ขณะที่หลายประเทศ ฝึกพยาบาลมาทำแท้ง เพราะหมอไม่ทำ แต่ประเทศไทย หมอพร้อม แต่หมอไม่กล้าทำอยากจะบอกสื่อมวลชนว่า อย่าไปประณามผู้หญิงเลย เขาท้องเองไม่ได้หรอก ถ้าผู้ชายไม่ทำเขา ผมมีลูกชาย สามคน ยังไม่เห็นไปทำใครท้องเลย มันอยู่ที่เราสอนเขา เรื่องทำแท้งแก้ปลายเหตุ เราทำเรื่องวางแผนครอบครัวมา40 ปีแล้ว ให้กินยาคุมทุกวัน ใส่ถุงยางทุกครั้ง มันก็พลาดได้ อยากจะฝากว่า ถ้าเรามีคนใกล้ตัวท้อง แต่พ่อไม่รับผิดชอบ เราจะทำยังไง สื่ออย่าประณามเขาว่า เป็นแม่ใจร้าย "
ส่วนการพบซากศพเด็กทารก ที่วัดไผ่เงินฯ นั้น ตัวแทนจาก สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ระบุว่า เรา เรียกว่าศพไม่ได้ ไม่ใช่คนตามกฎหมาย สองพันกว่าห่อ ยังน้อยเกินไป ความเป็นจริงมีอีกเพียบ จัดการได้เลยทำแท้งเถื่อน แต่ถ้ามีการจัดงานโดยแพทย์ที่ถูกกฎหมาย โดยสถานทำแท้งที่ได้รับการรับรองอย่างไปยุ่งกับเขาเลยครับ ผู้หญิงที่มีปัญหาจะลำบาก เนื่องจากหาที่ทำไม่ได้