Rating: | ★★★★★ |
Category: | Movies |
Genre: | Drama |
ได้ดูหนังเรื่องนี้กับป้าอ้อยเมื่อตอนมันเข้าโรงที่ลิโด้ แต่ว่าเราไปดูกันตั้งแต่ปี 2003 เลยหรอป้า? (นานจังเนอะ) แต่ได้ดูอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ด้วยมีสปอนเซอร์นำเสนอ ซึ่งมีหรือ ที่ฉันจะปฏิเสธ
ตอนที่ได้ดูหนังใหญ่จำได้ว่า รู้สึกแล้วว่าเป็นหนังที่นำเสนอได้เจ๋ง เล่าเรื่องละเอียดอ่อนเปราะบางในความรู้สึกคนรุ่นก่อนให้คนรุ่นหลังเข้าใจดียังไม่พอ ยังมีอารมณ์ขันเสียด้วย (ฉากเครื่องบินขนเลนินมานั้นก็สุดยอดเลย) แต่จากการได้ดูซ้ำอีกอย่างน้อย 2 รอบในคราวนี้ ก็ทำให้เก็บได้รายละเอียดมาอีกเป็นหลายกอบ แถมด้วยผลพลอยได้ดีๆ ประสาสตรี (มีอายุ) ช่างคิด
เรื่องหนึ่งที่ได้คิดคือ คนรอบตัวเราเกิดและเติบโตในยุคที่มีสิ่งแวดล้อมต่างกับเรา ย่อมมีความผูกพันเชื่อมโยงกับอะไรบางอย่างต่างกัน
อย่างโลกของคริสติอาเน่ ผู้เป็นแม่ในเรื่อง ก็เป็นโลกที่ต่างกับโลกของลูกๆ ทั้งๆ ที่ทั้งแม่และลูกต่างเป็นพลเมืองของประเทศที่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว คือเยอรมันตะวันออก ประเทศสังคมนิยมซึ่งเป็นผลิตผลของสงครามเย็น ที่ ณ เวลาในหนัง แค่ปิดกั้นตัวเองจากโลกทุนนิยมไม่พอ ยังถูกกรอกหูว่าทุนนิยมน่ะ ฟุ้งเฟ้อ ชั่วร้าย เลวทรามต่างๆ (สังคมนิยมดีที่สุด) นานา
อีหรอบเดียวกับประเทศทุนนิยมประชาธิปไตยทั้งก็โดนกรอกหูแบบเดียวกัน
นี่แหละ สไตล์อันโหดร้ายและเยือกเย็นของสงครามเย็น
หนังเริ่มเล่าเรื่องในปี ’87 ตอนที่อเล็กซ์ยังสิบเอ็ดขวบ ตอนนั้นครอบครัวเหมือนจะมีความสุขดี (ดีแบบที่คนในโลกสังคมนิยมจะดีได้) แต่จากนั้น ผู้เป็นพ่อซึ่งมีความนิยมในทุนนิยมก็หายไปจากบ้าน เด็กๆ เข้าใจว่าเป็นเพราะพ่อติดผู้หญิง แต่แม่น่ะรู้ดี ว่าพ่อไปเพราะอยากเป็นทุนนิยมมากกว่าสังคมนิยม
การหายไปของพ่อทำให้แม่นิ่งเงียบ เราได้รู้กันในภายหลังว่าแม่เงียบเพราะเธอกำลังตัดสินใจ ซึ่งในที่สุดแล้วแม่ก็ตัดสินใจปักหลักอยู่ที่ด้านขวาของกำแพงเบอร์ลิน ไม่หอบลูกหนีไปตามพ่อเพราะกลัวว่าเขาจะจับพรากลูกไป (เป็นเหตุผลที่ฟังได้สำหรับคนเป็นแม่นะ) หลังจากนิ่งเงียบไป 8 สัปดาห์ แม่ก็กลับบ้านพร้อมความเชื่อมั่นตั้งใจ ว่านี่แหละคือวิถีที่เธอและลูกเลือก
(ก่อนที่จะได้รู้ในอีกสิบปีว่าจริงๆ แล้วลูกอยากเลือกอะไร)
แม่มีเหตุให้ต้องกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา หลับรวดไป 8 เดือน ในคืนที่อเล็กซ์โดนจับไปจากม็อบเรียกร้องเสรีภาพ ระหว่างที่แม่หลับ กำแพงเบอร์ลินถูกทุบในปี ’89 กระแสทุนนิยมไหลกรากมาทางฝั่งตะวันออก พาโคคาโคลา, เบอร์เกอร์คิง, เฟอร์นิเจอร์และแฟชั่นล้ำยุค รวมทั้งคอนซูเมอร์โปรดักท์แปลกใหม่มาพัดแบรนด์สังคมนิยมเก่าๆ พลัดตกจากชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ตไปเป็นแถบๆ
นอกจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ลูกๆ เองก็เปลี่ยนไป พี่สาวอเล็กซ์เลิกเรียนเศรษฐศาสตร์ ออกมาขายเบอร์เกอร์คิง แล้วก็ได้แฟนใหม่เป็นผู้จัดการร้านเบอร์เกอร์คิง หนุ่มจากฝั่งตะวันตกมาอยู่ด้วยในแฟลตเดียวกันแล้ว อเล็กซ์จีบลาร์ล่า นักเรียนพยาบาลสาวรัสเซียน่ารักม้ากติด เขามีความสุขมาก เขารู้สึกเหมือนอนาคตอยู่ในมือ
แต่แล้ว จู่ๆ ระหว่างที่ทุกคนกำลังแฮปปี้มีความสุขกับโลกใหม่ แม่ก็ตื่น
แม่ พลเมืองสังคมนิยมตัวอย่าง ผู้งดงาม ผู้บอบบาง ที่รักของอเล็กซ์ ซึ่งพร้อมจะช็อคได้อีกทุกเมื่อ ได้ฟื้นขึ้นโดยไม่รู้ว่ากำแพงเบอร์ลินไม่มีอยู่แล้ว
ร้อนถึงลูกๆ ต้องช่วยกันจัดฉากให้โลกเหมือนกับวันที่แม่ยังจำได้ เพื่อที่แม่จะได้ไม่ต้องช็อคไปอีกครั้ง เพราะรับไม่ได้ กับการกลายเป็นกระแสทุนนิยมที่แม่เกลียดชัง ..ตอนนี้แหละที่ทั้งวุ่นวายและสนุกในความรู้สึกของคนดู
อเล็กซ์ทำทุกอย่าง ตั้งแต่ค้นขยะหาฉลากแตงกวาดองที่แม่อยากกิน ซึ่งไม่มีขายแล้ว ไปสวมขวดใหม่ก่อนเสิร์ฟแม่ ตัดต่อเทปข่าวเปิดให้แม่ดู โดยคิดว่านั่นคือทีวี จับเพื่อนบ้านและลูกศิษย์แม่มาแต่งตัวเชยในแบบเดิม เพื่อร่วมอวยพรวันเกิดแม่ ระหว่างนั้นก็รอให้แม่นึกออกว่าซ่อนเงินไว้ตรงไหน (เสียดายแม่นึกออกช้าไปหน่อย)
แต่ก็นั่นแหละนะ ความลับไม่มีในโลก ก่อนจะจากไป ในที่สุดแม่ก็ได้รู้ว่าประเทศที่แม่รักและเชื่อมั่นไม่มีอยู่แล้ว แต่ก็เป็นการรับรู้อย่างอ่อนโยน ด้วยการจัดการของอเล็กซ์และเพื่อนอีกตามเคย
โลกยังคงหมุนไปข้างหน้า การที่แม่เราทำใจไม่ได้กับโลกในวันนี้ ซึ่งเป็นโลกของเราไม่ใช่เรื่องแปลก อีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า เราเองก็อาจจะทำใจยากกับโลกที่เราไม่ชินอีหรอบเดียวกะแม่เราก็ได้ (ใครจะรู้ )
ทางทีดีเราจึงควรทำหัวใจให้แข็งแกร่งพร้อมรับความเจ็บปวดจากบาดแผล
ยืดหยุ่นพอที่จะถูกถ่างใจให้กว้างพอจะรับสิ่งใหม่ๆ แล้วสายตาก็ควรจะถูกปรับให้รู้จักมองในแง่ดีเข้าไว้
เพราะว่าโลกยังหมุนไปข้างหน้า กลางคืนไม่ดำมืดอยู่อย่างนั้นตลอดไป วันใหม่เดินทางเพื่อมาถึงตลอดเวลา ไม่มีอะไรคงอยู่ในสภาพเดิมนิจนิรันดร์ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง ...แม้แต่หัวใจคน
(หุ หุ)
บันทึก:
• จำชื่อผู้กำกับ Wolfgang Becker ไว้ แล้วไปหา Life Is All You Get, หนังอีกเรื่องของเขามาดู
• ชอบบทที่เขาเขียน ชอบลำดับการตัดต่อ ชอบรสนิยมในการเชื่อมโยงซีเควนซ์ต่างๆ แล้วก็ชอบสำนวนที่เขาเขียนให้เดเนี่ยล บรูห์ลอ่าน (ความคิดของอเล็กซ์) มันดูเป็นการมองโลกอย่างเข้าใจ แต่แทรกไว้ด้วยอารมณ์ขัน
• คิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นผ้าผืนนึงที่เกิดจากการวางแผนก่อนทอลายลงไปในนั้นอย่างสุดยอดเลยอะ ในหนังมีรายละเอียดน่ารักมากหลายอย่าง ที่ทำให้เราจำมันได้ไม่ลืม ไม่ว่าจะเป็นการส่งชาวเยอรมันคนแรกขึ้นไปท่องอวกาศ เพลง score ลายวอลล์เปอเปอร์เข้ากับปลอกหมอน โคคาโคล่า สกูตเตอร์ และเบอร์เกอร์คิง และบอลโลก
• เขาเขียนตอนพี่สาวอเล็กซ์เจอพ่อได้เจ็บปวดดีจริง (ทั้งๆ ที่ดูแล้วก็ขำไปด้วยอะนะ)
• สังเกตว่าเขาแคสต์ได้ตัวละครหน้าตาดีจริง (หรือจริงๆ ดาราเยอรมันหน้าตาดีหมด) ยกเว้นตัวพระเอก (เดเนี่ยล บรูห์ล) แต่ถึงจะไม่หล่อ แต่น้องเค้ามีคาแรกเตอร์น่าติดตามนะ
• คาทริน ซาซ เล่นเป็นแม่ได้ดีจริง แล้วเธอก็สวยมากๆ เลยด้วย
• ชอบแสง+อารมณ์ตอนแฟนอเล็กซ์ตามไปปลอบริมทะเลสาบมากเลย อบอุ่น
• เหมือนว่านางพยาบาลในโลกสังคมนิยมจะน่ารักและเซ็กซี่มาก (ชุดขาวบางเบาเดินย้อนแสงแล้วมันช่าง...ว้าว)
• เป็นหนังดี ภาษาสวย (ขอบคุณพระเจ้า เขาแปลซับฯ ออกมาดี๊ดี เลยรู้ว่าเขาเขียนดีแค่ไหน) แต่ฟังมากๆ แล้วไม่เห็นอยากเรียนภาษาเยอรมันเลย