วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อาหารแมว : แซนด์วิชบ้านทะเล




แบรนด์แอมบาสซาเดอร์เกือบอดใจโพสท่าไม่ไหว

เพราะว่าเธอเห็นแซนด์วิชแล้วอยากกินมากกกกก



อาทิตย์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

ก่อนม้าน้อยจะค้างคืนที่บ้านทะเล น้าแมวเดินทางมากินข้าวเย็นบ้านทะเลด้วยกัน แล้วพากันไปเวียนเทียนวันมาฆะ ที่วัดราชสิทธิ
น้าแมวลากลับบ้านอันไกลโพ้นไปตอนสามทุ่ม

วันรุ่งขึ้นม้าน้อยตื่นมาเล่นกะเล กินข้าวเช้าอิ่ม และเล่นกะเลอีกรอบแล้วจะลากลับไปทำงานฝิ่น พร้อมเป้ใบใหญ่ที่มายืมแม่แอน
แม่แอนใจดี รู้ว่าม้าน้อยจะแวะมาหาแมวก่อนไปซื้อหนังสือทำงาน ก็เข้าครัวไปทำแซนด์วิชชิ้นใหญ่เป้งฝากมา ๑ ชิ้น

ก่อนออกจากบ้าน ม้าน้อยแบ่งแซนด์วิชอีกชิ้นกินกับเลเป็นที่หนุกหนาน
บ้านทะเลเนี่ย ถ้าอยู่นาน สงสัยจะอ้วนนนนนนนน กว่านี้แน่นอน

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อาหารแมว : ราดหน้าศรีย่าน




หมี่กรอบราดหน้า





เสารที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

จากท่าน้ำนนท์ กลับเข้าบางกอก
แมวพาแวะกินมื้อเที่ยงที่ศรีย่าน


ราดหน้าร้านนี้ชื่ออะไรไม่ได้จำ
จำได้ว่าอยู่ข้างตลาดศรีย่าน
เยื้องๆ กันเป็นบะหมี่หัวโต
(ไม่แน่ใจว่ากินแล้วหัวจะโตไหม เลยไม่กล้ากิน อิอิ)
ติดกันเป็นร้านของหวานน่ากินมาก
แต่กินไม่ไหวแล้ว

ไว้คราวหน้าจะไปลองชามะละกอนะแมวนะ

วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พระใหญ่เมืองภูเก็ต




จะได้ไฟวันละเท่าไหร่?



เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปแบบร่วมสมัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๕.๔๕ เมตร ความสูง ๔๕ เมตร โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับผิวด้วยหินอ่อนหยกขาว “สุริยกันต”(สุริยกันตะ) จากพม่า น้ำหนักเฉพาะหินอ่อน หยกขาวประมาณ ๑๓๕ ตัน หรือประมาณ ๒,๕๐๐ ตารางเมตร ประดิษฐาน ณ บนยอดเขานาคเกิด ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

ซึ่งต่อมาก็ได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า “พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี” พร้อมตราตั้งให้เป็นพระพุทธรูปประจำเมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๑ โดยนายสุพร วนิชกุล ประธานดำเนินการจัดสร้างเป็นผู้รับนมัสการสนองพระเดชพระคุณ....





ข้อความข้างบนคัดมาจาก www.mingmongkolphuket.com

...ฉันไม่เข้าใจเรื่องขนาดเลย
สัญลักษณ์เพื่อเตือนใจให้ไม่ลืมหลักธรรมของศาสนาจำเป็นต้องสร้างให้ใหญ่เข้าไว้อย่างนั้นหรือ?
หรือที่จริงแล้ว เขามีกุศโลบายอะไรอยู่เบื้องหลัง?
เ่ช่น อาจจะเป็นการเตือนให้เราสามัคคี เสียสละ

ถ้าอย่างนั้นแล้วการสามัคคีหรือเสียสละที่ไม่เห็นดอกเห็นผลเป็นวัตถุจับต้องได้ (และใหญ่ขนาดนี้) ล่ะ จะอยากทำกันไหม?

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Emerging Japanese Female Directors

Start:     Mar 6, '10 11:00p
End:     Mar 21, '10
Location:     พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ชั้น 5 สยามพารากอน
เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2010
Emerging Japanese Female Directors

เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ร่วมกับ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ โดยได้รับความร่วมมือจาก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ภูมิใจเสนอ "เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2010 - Emerging Japanese Female Directors" ตั้งแต่วันพฤหัสบดี ที่ 4 - วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม 2553 ที่โรงภาพยนตร์ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ชั้น 5 สยามพารากอน

คนรักภาพยนตร์ญี่ปุ่นไม่ควรพลาดโอกาสชมผลงานชิ้นเยี่ยมๆ ของผู้กำกับภาพยนตร์หญิงยุคใหม่ ซึ่งมีทั้งเรื่องราวดราม่าหนักๆ จนถึงเรื่องตลก (ออกจะร้าย) เธอเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นผู้กำกับในดวงใจของใครต่อใครหลายคนเหมือนผู้กำกับ คุโรซาวะ โอสุ หรือ มิโซงุจิ ภาพยนตร์ที่มาฉายในเทศกาลครั้งนี้ส่วนใหญ่ได้รับรางวัลจากเวทีทั้งในและนอกประเทศ

พิเศษสำหรับปีนี้คือ พูดคุยกับผู้กำกับในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยผู้กำกับ ซาโตโกะ โยโกฮามะ ผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ไฟแรงคนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นจะมาพูดคุยกับผู้ชมเกี่ยวกับภาพยนตร์ของเธอ

ผู้สนใจเข้าชมสามารถรับบัตรได้ ฟรี โดยรับที่โต๊ะประชาสัมพันธ์หน้างาน 1 ใบต่อ 1 ท่าน 1 ชั่วโมงก่อนการฉายรอบนั้นๆ

ระยะเวลาเทศกาล
วันพฤหัสบดี ที่ 4 - วันอาทิตย์ ที่ 7 มีนาคม 2553
โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ชั้น 5 สยามพารากอน
(พิธีเปิดเริ่มตั้งแต่ 19.30 น. วันพฤหัสบดี ที่ 4 มีนาคม 2553)

ตารางการฉาย
พฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม: รอบเปิด
20.00

"Sway" (2006)
กำกับการแสดงโดย มิวะ นิชิคาวะ (120 นาที)


ศุกร์ที่ 5 มีนาคม: ฉายภาพยนตร์ และ พูดคุยกับผู้กำกับ ซาโตโกะ โยโกฮามะ
16.00

"Glasses" (2007)
กำกับการแสดงโดย นาโอโกะ โองิงามิ (106 นาที)
19.00 "German plus Rain" (2007)
กำกับการแสดงโดย ซาโตโกะ โยโกฮามะ (71 นาที)
*หลังภาพยนตร์จบจะมีการพูดคุยกับผู้กำกับ ซาโตโกะ โยโกฮามะ


เสาร์ที่ 6 มีนาคม:
11.00 "The Cat Leaves Home" (2004)
กำกับการแสดงโดย นามิ อิงุจิ (94 นาที)
16.00 "One Million Yen Girl" (2008)
กำกับการแสดงโดย ยูกิ ทานาดะ (121นาที)


อาทิตย์ที่ 7 มีนาคม:
11.00 "The Mourning Forest" (2007)
กำกับการแสดงโดย นาโอมิ คาวาเสะ (97 นาที)
16.00 "Dear Doctor" (2009)
กำกับการแสดงโดย มิวะ นิชิคาวะ (127นาที)

Kekkon Dekinai Otoko : อยากโสด ใครจะทำไม?

Rating:★★★★★
Category:Other


เลือกซีรีส์เรื่องนี้มาดูเพราะเชื่อว่ามันตลก อีกส่วนก็เพราะอยากรู้ ทำไมผู้ชายคนนี้ถึง ‘ไม่สามารถแต่งงาน’

ก็ชื่อ Kekkon Dekinai Otoko (結婚できない男) มันหมายความว่า The Man Who Can't Get Married น่ะสิ

แล้วฉันก็ได้พบคำตอบคล้ายกับที่ตัวเองเคยคิดไว้ว่า เมื่อเราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทุกเรื่อง การอยู่คนเดียวมันจะเป็นชีวิตที่แสนสบาย และเป็นตัวของตัวเองสุดๆ กินอย่างที่อยากกิน อยู่อย่างที่อยากอยู่ ดูหนัง ฟังเพลง แต่งตัวอยู่บ้าน แม้แต่จะจัดบ้านยังไง มีระเบียบหรือไร้ระเบียบแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับใจเราคนเดียว ไม่ต้องคอยห่วงความเป็นอยู่ ความสบาย ความพออกพอใจ และความสุขของคนที่อยู่ด้วย

พระเอกของเรื่องชื่อ คุวาโน่ ชินสุเกะ (Abe Hiroshi) สถาปนิกโสดวัย 40 เป็นตัวของตัวเอง มีแนวทางการออกแบบที่ชัดเจน ไม่ชอบต่อรอง แม้เขาคนนี้จะทำงานเก่ง แต่ก็มนุษย์สัมพันธ์แย่สุดๆ แถมยังเป็นโอตาคุอ่อนๆ แบบที่ชอบอะไร สนใจอะไรก็จะค้นคว้าจนรู้เยอะ รู้ลึก แล้วเมื่อถึงเวลาก็จะพูดพรูออกมาโดยไม่เห็นแก่หน้าคนอื่น ทำให้คนอื่นเสียหน้า เป็นที่อับอายอยู่หลายครั้งหลายครา

เขามีความมีความสุขเงียบๆ กับไลฟ์สไตล์ส่วนตัว กลับจากทำงานก็จะแวะร้านเช่าดีวีดี เลือกหนังโอตาคุสักเรื่องสองเรื่อง แวะซื้อของกินเดิมๆ ที่ร้านสะดวกซื้อร้านเดิม (แล้วก็ไม่เคยมีบัตรสะสมแต้มสักที) เดินข้ามสะพานกลับแมนชั่นไฮโซ ปรุงอาหารกินเองบ้างในบางวัน (ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ตัวเองชอบกิน แล้วก็กินแบบไม่แคร์สุขภาพหรืออะไรทั้งสิ้น) จากนั้นก็จะรินนมสด ๑ แก้ว มาวางข้างโซฟาที่ตั้งอยู่หน้าเครื่องเสียงซึ่งเล่นเพลงคลาสสิก ในแนวตามแต่อารมณ์วันนั้น แล้วก็ออกท่าทางราวกำลังคอนดักเพลงนั้น ด้วยอารมณ์ที่แสนจะ ‘อิน’

จนกระทั่งวันหนึ่ง เสียงหัวร่อต่อกระซิกของ มิจิรุ (Kuninaka Ryoko-น้องคนนี้เคยเจอแล้ว ในโฮตารุ) สาวข้างห้องที่กำลังห้าม ‘เคนจัง’ ไม่ให้ทำอะไรบางอย่างทำให้เขาเปลี่ยนเพลง เพิ่มโวลุ่ม กวนประสาทเพื่อนบ้านเล่นซะงั้น ทันใดนั้นผลกรรมที่ได้กระทำไว้ก่อนก็ทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างหนัก มิจิรุ ที่โต้ตอบเสียงน่ารำคาญด้วยการทุบ-ถีบผนังห้องยังไงก็ไม่ได้ผล กำลังเดินมากดกริ่งเพื่อบอกให้ช่วยเบาเสียงพอดี เธอเลยกลายเป็นผู้ช่วยชีวิตคุวาโน่ไปในที่สุด

ที่โรงพยาบาลของครอบครัวน้องเขย คุวาโน่ได้พบกับ นัตสึมิ (Natsukawa Yui) หมอสาววัยปลายสามสิบที่กำลังเหงาๆ และหวั่นไหวเล็กน้อยสถานภาพ ‘โสด’คุวาโน่เกือบโดนหมอนัตสึมิตรวจประตูหลังในครั้งนั้นแล้วเชียว ถ้าเขาไม่ออกอาการดื้อแพ่งจนหมอระอา

แน่ละมันเป็นเรื่องที่ดูแล้วอารมณ์ดี แต่สาระสำคัญที่ซีรีส์เรื่องนี้พูดถึงไม่ใช่ความพยายามที่จะพ้นไปจากความเป็นโสด การจับผู้ชายหรือผู้หญิงเหมาะๆ ให้ได้ เพื่อที่จะแต่งงาน มีครอบครัว สิ่งที่พูดถึงคือ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับคนอื่น และความแตกต่างระหว่าง ‘อยากมีความรัก’ กับ ‘อยากแต่งงาน’

สุดท้าย ซีรีส์เรื่องนี้ยังสอนว่า เป็นตัวของตัวเองได้ ไม่ชอบต่อรองได้ แต่ควรจะอ่อนโยน รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะไม่ว่าเราจะพอใจอยู่เป็นโสดหรือแต่งงานมีครอบครัว เรายังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบใหญ่ที่มีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เต็มไปหมด และการอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างสันติสุขนั้น อบอุ่น มีชีวิตชีวากว่าอยู่คนเดียวเยอะเลย



บันทึก
• เป็นซีรีส์ที่ให้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ และภาษาญี่ปุ่นจนน่าปลื้่มใจ
• มีความรู้สึกว่ารับส่งกันได้ดีมากเลย ระหว่างคนเขียนบทกับคนเล่น และผู้กำกับ บทของคุวาโน่ เหมือนเขียนมาให้อาเบะโดยเฉพาะ หรือไม่คนเขียนบทอาจจะเขียนบทแบบนี้ให้อาเบะ ฉันไม่แน่ใจ
• อีกเรื่องที่ทำให้นึกชอบซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องนี้ขึ้นมาอีกคือ มันเป็นซีรีส์ดูสนุกและมีคุณภาพ โดยไม่ต้องมีภาพหวือหวาของ love scene ไม่ต้องมีนางเอกหรือนางอิจฉาสวยอึ๋มแต่งหน้าเข้ม แต่งตัวเซ็กซี่ ไม่ต้องมีบทสนทนาเผ็ดร้อนรุนแรง มันดูเป็นเรื่องจริงเลยล่ะ ที่แม้จะเป็นสาวโสดที่ไม่สวย ไม่สาว ไม่อึ๋ม ก็พบรักได้ ถ้าเจอคนที่ ‘ใช่’ และเข้ากันได้ (อ๊ะ! ..ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับฉันหรอกนะ)
• อีกอย่างหนึ่ง เวลาจะประเมินคุณค่าของเพศตรงข้าม หลักการเก่าๆ ที่เราจะดูเพียงแค่ หน้าตา บุคลิก รสนิยม หน้าที่การงาน รายได้ ฯลฯ เรื่องภายนอกพวกนี้คงเป็นอะไรที่ผิวเผินมาก เพราะคุณค่าที่จริงของคนเรามันอยู่ในชั้นที่ลึกเข้ามาจากเปลือกพวกนั้น
• เราอาจจะคิดไปได้ว่าเขาเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่เขาจะเป็นแบบที่เราคิดหรือไม่นั้นมันอีกเรื่อง
• เคนจังน่ารักมาก ทั้งๆ ที่ฉันไม่ได้ปลื้มปั๊กมาก่อน มาดูเรื่องนี้แล้วนึกเอ็นดูมันจัง (ไม่น่าเชื่อว่าจะมีหมาชอบกินแตงกวา)
• ตาเคนจังกับคุวาโน่เหมือนกันจริงๆ ซะด้วยสิ

วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เดียว

Rating:★★★★
Category:Books
Genre: Literature & Fiction
Author:งามพรรณ เวชชาชีวะ

วันก่อนได้ยิน (จริงๆ คืออ่าน) เจ้แอน-แม่ทะเล เม้นท์ว่า ‘เข้าใจหัวอกคนเป็นแม่’ ไว้ในโน้ตที่ฉันเปรยไว้ว่าจะกลับไปอยู่บ้าน ..ก็ไม่รู้เพราะความเข้าใจหัวอกคนเป็นแม่หรืออีกเปล่า เจ้ถึงได้ให้ (ด้วยความพิศวาส) หนังสือเล่มนี้กับฉัน (และฉันก็จะให้-ด้วยความพิศวาส-ต่อไปยังน้องรักอีกคน)

นิยายเรื่องนี้อ่านง่าย อ่านลื่น อ่านเพลิน ตามสไตล์ งามพรรณ เวชชาชีวะ ผู้ไม่จำเป็นต้องไซโคคนอ่านด้วยศัพท์ซับซ้อน สำนวนสวิงสวาย วางโครงเรื่องวกวน หวือหวา เพียงเพื่อจะทำให้คนอ่านรับรู้ว่านี่ว่านี่เป็นเรื่องซีเรียสนะจ๊ะ ซีเรียสจริงๆ จ้ะ ..เธอแค่ค่อยๆ เล่าไปเรื่อยๆ ค่อยๆ นำพาเราสู่ความเข้าใจกับเรื่องราวทีละนิด แล้วค่อยไปกดดันเราให้ซีเรียสในจังหวะที่เหมาะ จนในที่สุด เราก็เข้าใกล้ความ ‘เข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อแม่’ ไปกับเรื่องราวของเธอได้

“เดียว” เกิดจากการหายไปของน้องเดียว ลูกคนเดียว ที่เป็นดังแก้วตาดวงใจของคนเป็นพ่อแม่ (เรื่องนี้ฉันยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ เพราะที่บ้านก็มีกันตั้งสามพี่น้อง ลูกของตัวเองก็ยังไม่มีโอกาสจะมี) หายในที่นี้ คือโดนลากตัวขึ้นรถตู้นิรนามที่บึ่งหนีไปต่อหน้าต่อตาคนเป็นพ่อ..บาดใจกันขนาดนั้น

เรื่องเกิดขึ้นสิบกว่าปีก่อน ยุคที่อินเทอร์เน็ตและมือถือยังไม่แพร่หลายอย่างนี้ อาศัยแค่กำลังติดตามของตำรวจจึงไม่อาจพาเด็กชายกลับมาสู่อ้อมอกของพ่อแม่ได้

ลูกที่เฝ้าเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอม ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม จะไปตกระกำลำบากอย่างไร ถูกให้ทำงานที่แย่ สกปรก และเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน จะถูกเขาหักแขนหักขา ควักลูกตาแล้วไปนั่งขอทาน พาไปค้าประเวณี ขนยาเสพติด ไปลักขโมย ฉกชิงวิ่งราว หรือถูกผ่าท้องเอาตับไตมาขาย พ่อแม่ไม่มีทางรู้

ความรู้สึกของคนเป็นพ่อเป็นแม่คงเหมือนใจจะขาด

ที่จริงข่าวแก๊งค์ลักเด็กเอย ฟอร์เวิร์ดอีเมล์ขอความช่วยเหลือตามเด็กหายเอย ข่าวแบบนี้มีมาเรื่อยๆ จนเราชินหู และคงไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรนัก ถ้าเด็กคนนั้นไม่ใช่ลูกเต้า หลาน หรือญาติพี่น้องของเรา อ่านจบแล้วฉันเองก็เพิ่งตระหนักนะ ว่า การค้ามนุษย์เป็นปัญหายิ่งใหญ่เหลือเกิน ใหญ่เกินกว่ากำลังของคนเป็นพ่อแม่ ตำรวจ และมูลนิธิช่วยเหลือ

ฉัน ในฐานะเพื่อนร่วมโลกของพ่อ แม่ และลูก ครอบครัวผู้เคราะห์ร้าย ควรมีบทบาทอย่างไรในยามที่ประสบฉากหนึ่งในกระบวนการค้ามนุษย์ เวลาเห็นเด็กชายตัวผอม หน้าหม่น ผิวกร้าน ใส่ชุดนักเรียนสกปรกมอมแมม ถือกล่องบุบบี้ยืนอยู่ตรงตีนสะพานลงจากสถานีรถไฟฟ้า ปากพร่ำพูดแต่ตาไม่สบกับใคร ร้องขอแค่เงินสนับสนุนการศึกษา เวลาเด็กชายพาน้องสาวตัวเล็กมาขายดอกกุหลาบเหี่ยวๆ ในร้านอาหาร เวลาเห็นผู้หญิงนั่งขอทานอยู่บนพื้น ในตักมีเด็กวัยกำลังกินนมนอนหลับคอพับคออ่อนอยู่

ให้ หรือไม่ให้?
หรือควรจะทำยังไงต่อ?
มีอะไรที่เราช่วยได้มากกว่าส่งฟอร์เวิร์ดอีเมล์ไหม?



บันทึก:
• ข้อมูลที่ทำให้สะเทือนใจมากๆ ที่ได้รู้จากนิยายเรื่องนี้คือ วิธีที่เขาทำให้เด็กๆ ไม่กล้ากลับมาหาพ่อแม่ แม้จะจำได้ว่าบ้านอยู่ที่ไหน และเบอร์โทรศัพท์เบอร์อะไร
• การผูกเรื่องของนิยายเรื่องนี้ไม่ถึงกับเนียนเป็นเนื้อเดียวแบบถุงน่องเนื้อดีหรอก แต่ฉันว่างามพรรณประณีตมาก เธอวางแผนเขียนได้แยบยล และลุ่มลึก ฉันเชื่อเธอใช้เวลากับมันนานพอดู (อ่านงานแบบนี้แล้วรู้สึกอยากจะขอบคุณนักเขียนนะ)
• ฉันคิดว่า คนอยากจะเป็นนักเขียนนิยาย อย่างน้อยต้องทำได้อย่างนี้ ถ้าได้ไม่ถึงครึ่งของงานแบบนี้ สำนักพิมพ์โปรดอย่าพิมพ์ให้เปลืองกระดาษ สำนักพิมพ์ที่ไม่คัดสรรงานมาแบบสั่วๆ ก็ไม่น่านับถือในสายตานักอ่านอย่างฉัน
• งามพรรณจบได้เจ็บปวดมาก (ผิดคาด)
• ไม่ค่อยได้อ่านนิยายไทยเขียนใหม่ๆ มากนัก แต่ฉันว่า นิยายอย่าง ‘เดียว’ เนี่ย ไม่เสียเวลาอ่านเลย
• อ่านท่อนท้ายในรถไฟขากลับ เผลอน้ำตาไหลโดยไม่ตั้งตัว หวังว่าจะไม่มีคนสนใจ
• (ถึงมีคนสนใจก็ใช่ว่าฉันจะแคร์นี่นะ)
• สุดท้ายนี้ขอจบด้วยคำขอบคุณเจ้แอน ผู้เมตตา แล้วก็มอบของดีๆ ให้ม้าน้อยมาตลอด






วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ภูเก็ตทะเลสวย



ชอบรูปนี้
แต่ถ้าขอบฟ้าไม่เอียงก็คงดีนะ





อาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553
วันวาเลนไทน์


ฉันไปภูเก็ต
(แต่ปล่าวไปเดตนะคะ)

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เรดาร์แมว : do you think cats know they're cats?






ศุกร์ 19 กุมภาพันธ์ 2553


เช้านี้เจอแมวนำโชค หลังพบเรื่องเขย่าขวัญที่ระเบียงคอนโด

แมวตัวนี้หน้าร้ายมาก
เสียดายมันไม่ยอมหันหน้ามาดีๆ

วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

..ไม่ใช่เรื่องของอดีต






..แต่เป็นเรื่องของปัจจุบัน
และอนาคต




ไม่น่าเชื่อว่าน้องชายคนกลาง
คนที่เมื่อเล็กๆ ฉันไม่ยอมเล่นด้วยเพราะเบื่อที่น้องโง่ (กว่า)
จะพูดอะไรน้อยๆ แต่โดนใจได้ขนาดนี้


(รูปจากระเบียงบ้านน้า บ้านริมแม่น้ำตาปีที่ตากับยายสร้างมากับมือ)

ว่าจะกลับไปอยู่บ้าน

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ไม่สำคัญว่ามาจากไหน






เสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553

ฉันกลับบ้านเป็นครั้งแรกของปี
ไม่เชิงว่ากลับไปไหว้เจ้าตรุษจีน (เกือบไม่ทัน เพราะรถไฟช้าไป 3 ชั่วโมง)
แต่เพราะตั้งใจจะกลับไปทำบุญครบรอบวันตายของพ่อในวันถัดจากวาเลนไทน์

อากาศคืนล่องจากกรุงเทพฯ ลงใต้เย็นสบาย
ที่้บ้านฉันวันนั้นมีลมพัดตลอดวัน
ระหว่างที่แสงแดดเฉียงๆ ปลายหน้าหนาวทำหน้าที่ของมัน
คือสาดแรงลงมาอย่างไม่ปราณีผิว

อัญชันเถาหนึ่งขึ้นอยู่ข้างบ้าน
กำลังชูยอดอ่อนขึ้นไขว่คว้าค้างไม้ไผ่ อย่างงาม

ฉันถามแม่ ทำไมถึงปลูกอัญชันไว้ตรงนี้
แม่บอกเปล่าปลูก มันขึ้นของมันเอง
เลยทำค้างให้มันเลื้อยสวยๆ

ไม่สำคัญที่จะคิดหาคำตอบว่าเมล็ดอัญชันมาจากไหน
เป็นเรื่องน่ายินดีมากกว่าที่มันเลือกมาผังราก เติบโต ผลิดอกที่ตรงนั้น

แม้ต่อไปอาจเลื้อยให้ข้างบ้านรกเป็นพุ่มอัญชันก็ตาม


วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สวนราตรี






หัวค่ำลมเย็นวันพุธ

พาฅนเป็นหวัดไปกินราเมง
ต่อด้วยไอติมแมกนั่ม
แล้วพากันไปนั่งหง่าวกับลมเย็นๆ ในสวนเบญจ์

ที่ที่ใครบางคนคิดว่าจะถูกทิ้ง


อิ อิ

ใครหนอ ใครกันให้เราขี่คอ






คืนหนึ่ง
มีลมเย็นรำเพยพัด
โบกร้อนให้ห่างไกลคนบางกอก

แม้แม่-ลูกในสวนยังไม่วาย เริงลมรื่น
หยอกล้อ เล่นกันไม่ยอมหยุด







วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Sweety Praline







วันก่อนเป็นวันเกิดพี่โอ๋
ฉันหาอะไรไม่ทัน ก่อนมาทำงานก็แวะซื้อเอแคลร์วิกตอรี่เบเกอรี่มาแปะ Post-it สุขสันต์วันเกิด วางไว้รอพี่โอ๋มาทำงาน

แต่พี่โอ๋ใจดีมาก ตอนเดินไปรับเค้กวันเกิดตัวเอง ที่สั่งไว้เป็น Praline Cake ซึ่งเพื่อนๆ โปรดไม่เคยเปลี่ยนที่ช็อปของ Neil's Tavern พี่โอ๋ก็ซื้อมาฝากฉันชิ้นนึง

พราลีนเค้กที่ประกอบด้วยช็อกโกแลตชิฟฟ่อนฟูเบา มีครีมกลิ่นรสหอมมอคค่าแทรกตรงกลาง มันอร่อยและเคี้ยวเพลินที่อัลมอนด์เคลือบน้ำตาลที่เทปิดผิวนอกตัวเึค้กไว้เต็มพื้นที่อย่างนี้เอง

ขอบคุณค่ะพี่โอ๋


(ตายจริง พราลีนเค้กร้านนี้ชิ้นละ 92 บาททีเดียวหรอเนี่ย!)
www.neil.co.th

รอยชีวิต

Rating:★★★★
Category:Books
Genre: Literature & Fiction
Author:Kenzaburo Oe



...ฉันจะใช้เวลาในชีวิตที่เหลืออยู่ของทั้งตัวเองและภรรยาโดยมีเจ้าสัตว์ประหลาดนี่ขี่อยู่บนหลังได้อย่างไร ไม่ว่าจะอย่างไรฉันจะต้องหนีไปจากเจ้าสัตว์ประหลาดตนนี้ให้ได้ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นละก็ โอ้! การเดินทางไปแอฟริกาของฉันจะเป็นอย่างไรบ้างหนอ เบิร์ดถูกผลักดันให้เกิดความรู้สึกปกป้องตัวเองอย่างเร่าร้อน ราวกับเขาถูกไล่ล่าจากทารกสัตว์ประหลาดในตู้อบผ่านกระจกกั้นนั้น เบิร์ดรวบรวมกำลังเข้าต่อสู้ แต่ในขณะเดียวกันเบิร์ดก็รู้สึกอับอายในความเห็นแก่ตัวของตนที่เกาะติดตัวเขาราวกับพยาธิตัวกลมจนเหงื่อไหลไปทั่วร่าง และเกิดอาการหน้าแดง หูข้างหนึ่งของเบิร์ดหนวกสนิท ได้ยินเพียงเสียงเลือดไหลเวียน ดวงตาของเขาแดงก่ำราวกับโดนต่อยด้วยกำปั้นที่มองไม่เห็นแต่มีพลังมหาศาล ความรู้สึกอับอายพัดกระพือไฟร้อนจนเบิร์ดหน้าแดงและน้ำตาคลอ...



คำถามที่เกิดขึ้นระหว่างที่ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ ถ้าฉันต้องตกที่นั่งเดียวกับเบิร์ด ฉันจะหนี หรือเผชิญหน้า

ไม่ว่า Kenzaburo Oe นักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลปี 1994 จะต้องการถามคนอ่านอย่างนั้นหรือไม่ก็ตาม เขาก็ได้เล่าไว้อย่างละเอียดตั้งแต่ปฏิกิริยาผงะหงายในวาระแรกที่เบิร์ดเผชิญหน้ากับลูกชายที่คลอดออกมาพร้อมอาการ "สมองเลื่อน" จนดูเหมือนมีสองหัว ความขัดแย้งในใจ ไปจนหนทางที่เขาตัดสินใจเลือก แม้มันจะทำให้สูญเสียโอกาสในการทำความฝันให้เป็นจริง

ตอนที่หยุดอ่านไปในครั้งแรกเพราะลีลาการเล่าเรื่องมันกดประสาทเสียจนอดกลัวไม่ได้ว่าถ้าอ่านแล้วอินมากๆ จะกลัวการมีลูก และเลี้ยงลูก แต่จริงๆ แล้วไม่เลย กลับมาอ่านจนจบในครั้งนี้กลับได้รู้สึกถึงการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ของจิตใจคนเป็นพ่อเป็นแม่

แม้เป็นเรื่องฮาร์ดคอร์ แต่ก็คุ้มที่อ่านจนจบ



บันทึก:
• “รอยชีวิต” หรือ A Personal Matter โดย Kenzaburo Oe แปลโดย เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์ ซึ่งเลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับนักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลปี 1994 ผู้นี้ บรรณาธิกรโดย ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์
• โอเอะมีลูกชายคนแรกเมื่ออายุ 29 ปี “ฮิคาริ” ถือกำเนิดในปี 1964 พร้อมกับความพิการทางสมอง และนั่นเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เขาเขียน “รอยชีวิต” ในปีต่อมา แต่ไม่ว่าโอเอะจะเขียนให้เบิร์ดดูแย่ อ่อนแอ และปอดแค่ไหน แต่สำหรับโอเอะแล้ว ลูกคือแรงผลักดันให้เขาเข้มแข็งและยืนหยัดเผขิญหน้ากับปัญหาอย่างกล้าหาญและสง่างาม
• เป็นการเล่าถึงภาพในสมอง และบรรยายอาการที่แสดงออกมาทางกายได้ surreal มาก ประทับใจกับสำนวน ลีลาของเคนซาบุโร โอเอะ การแปลเองก็เกือบดีแล้ว (คงต้องยกเครดิตให้การบรรณาธิกรของ อ.รื่นฤทัยด้วย) มันเกือบดีแล้วแหละ แต่ที่ติดขัดบ้าง พิมพ์ผิดบ้าง ฉันให้อภัยได้ ต้องขอบคุณด้วยซ้ำที่เขาอุตสาหะแปลให้อ่าน ^_^
• การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนการติดตามตามข่าวที่รายงานสดจากสมรภูมิรบ ติดตามจนถึงวันที่สงครามสงบและสันติภาพกลับคืนมาอีกครั้ง
• อ่านหนังสือที่อ่านยาก และหยิบๆ วางๆ หลายครั้งเล่มนี้จบแล้วฮึกเหิมอีกแล้ว อ่านโคโคโระกับรอยชีวิตจบ เล่มไหนๆ ก็อ่านจบน่า (ฮา)


Fargo: สุดท้ายก็แห้ว

Rating:★★★★
Category:Movies
Genre: Drama



ชื่อหนัง Fargo (1996) น่าจะเคยผ่านหูฉันมาบ้างแล้วแหละ เพราะหนังเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ตั้ง 7 สาขา แล้วก็ซิวไปได้ถึง 2 รางวัล คือ Best Original Screenplay โดยสองพี่น้อง Joel และ Ethan Coen กับรางวัล Best Actress in Leading Role ที่ให้แก่ Frances McDormand ในปีเดียวกับที่ English Patient ได้รางวัลสาขา Best Picture

แต่ที่ได้มาดูเนี่ย ก็เพราะม่อน วันหนึ่งม่อนบอกว่าหาซื้อหนังเรื่องนี้อยู่ แต่ไม่เจอสักที ฉันอยากรู้ว่ามันเป็นยังไงของมัน ก็ลอง Google ดูบ้างแล้วเลยเจอเว็บขายหนัง Pirate ที่มีหนังเรื่องนี้ขาย ว่าแล้วก็ลองสั่งซื้อซีรีส์ญี่ปุ่นมา 1 ชุด พ่วง Fargo มาเผื่อม่อนด้วย
(ไม่กล้าซื้อเยอะเพราะไม่เคยสั่งซื้อหนังจากเว็บแบบนี้เองมาก่อน-กลัวจะเสียท่า)

หนังมาจากเชียงใหม่ (ออกจะทึ่ง) มาถึงมือวันนี้ ก็เลยเปิดเช็คสักหน่อย ปรากฏว่าชัดดี เสียงดี ซับไทย ไม่มีปัญหานะม่อน (อิ อิ)

เปิดเรื่องด้วยสีขาวแห่งความอ้างว้างของทุ่งหิมะที่เหมือนจะซ่อนความลับที่เศร้าสร้อยบางอย่างเอาไว้ จากนั้นก็ค่อยๆ ปรากฏเป็นภาพรถปิ๊กอัพลากรถอีกคันวิ่งฝ่าหมอกมา แล้วเรื่องทั้งหมดก็ถูกเล่าขึ้น

จะว่าเป็นพล็อตก็ไม่เชิง เพราะเขาบอกไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่าดัดแปลงขึ้นจากเหตุการณ์จริงในปี 1987 เริ่มจากผัวร้อนเงินที่วางแผนให้คนมาลักพาตัวเมีย เรียกค่าไถ่จากพ่อตาเศรษฐี แผนที่วางไว้ก็หละหลวม ไม่ค่อยรัดกุมเท่าไหร่ แถมเลือกคนเพี้ยน ไม่เต็มเต็งมาทำงาน ตัวเอง ‘หลุด’ ทำแผนพังไม่พอ ยังทำเงินล้าน ‘หลุด’ ไปด้วย

ผลสุดท้ายก็เลยกินแห้วกันทั่วหน้า

หลายเหยื่อที่่ตายไปก็เหมือนตายเปล่า สังเวยให้ความประสาทเสียของคนซะอย่างนั้นแหละ

สิ่งที่ฉันชอบในหนังเรื่องนี้คือสไตล์ของ Coens ฉันยังไม่เคยดู No Country for Oldmen อันโด่งดังหรอกนะ (ก็ฉันมีโรคต่อต้านสังคมเป็นโรคประจำตัว) หนังเรื่องเดียวของ Coens ที่เคยดูจึงเป็น Burn After Reading (2008) ที่สอง Coens กล้าเอารูปหล่ออย่างจอร์จ คลูนีย์และแบรด พิตต์ ไปปู้ยี้ปู้ยำจนจำไม่ได้ ซึ่งก็พบว่าชอบมาก อินมากกับเรื่องเรียกเสียงหัวเราะที่่เศร้าขมๆ ลึกๆ อยู่ในอกแบบนั้น

เรื่องเล่าใน Fargo ก็เป็นแนวนั้น เป็นมุกที่ทำให้ตบเข่าป้าบในแชแนลแรก แต่ก็จุกอกในแชแนลต่อมา และเอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องตลกที่ขำไม่ออกแต่พาลจะทำน้ำตาซึมด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม ฉันพบว่าในหนังฆาตกรรมตลกร้ายเรื่องนี้มีเรื่องที่ทำให้ยิ้มทั้งที่กำลังเศร้าได้ กับความรักเล็กๆ ของผัวศิลปิน เมียตำรวจที่กำลังท้องโต แต่ก็เป็นคนฉลาด สามารถคลี่คลายและจับคนร้ายได้ ฉากที่มีแค่สองคนบนเตียงในช่วงเวลาก่อนเข้านอน และบทสนทนาสั้นๆ กับปฏิกิริยาโต้ตอบของผัวกับเมีย เล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย แต่ซึ้ง และอบอุ่นเหลือเกิน

ฉันบอกตัวเองตั้งแต่ยังไม่รู้ว่ารางวัลออสการ์ในปีนั้นตกเป็นของเธอแล้วว่า Frances McDormand นี่แหละ ..ของจริง


บันทึก:
• ตั้งใจมากๆ ว่าจะไปดู A Serious Man ที่กำลังจะเข้าให้ได้!
• นอกจากรางวัลออสการ์ สองพี่น้อง Coens ยังพาหนังเรื่องนี้ไปกวาดรางวัลมาซะเยอะ ทั้งนำแสดงหญิงจาก Bafta Award และผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 1996 ด้วย
• ฉันว่าการ Casting เป็นส่วนสำคัญมากๆ ในการทำหนังเรื่องนี้
• งานกำกับภาพเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ควรศึกษาด้วย หนังเรื่องนี้บันทึกภาพทุ่งหิมะไว้ได้ฟีลลิ่งที่เย็นชาจริงๆ


วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ปริศนา




คนทุกคนมีแรงพลุ่งไปใน ความเกิด ด้วยฤทธิ์ของตัณหาและอุปาทาน. โดยเหตุที่ไม่ทราบว่า ที่แท้อารมณ์ทั้งปวงนั้นก่อตัวพลุ่งขึ้นก็เพียงเพื่อมุ่งกลับสู่สภาพเดิม คือ ความดับ.

เหมือนไม้ไผ่ตัดจากกอไผ่ไปทำขลุ่ยเป่าเสียงดังไพเราะ ก็เพียงเพื่อ ความดับ แห่งเสียงนั้นลงสู่สภาพไม้ไผ่จากกอเดิม; หรือเหมือนไอน้ำจากทะเลพลุ่งขึ้นเป็นเมฆและตกเป็นฝนลงสู่ทะเลตามเดิม.

ความวุ่นที่พลุ่งขึ้น ก็ย่อมดับมอดลงสู่ ความว่าง อันเป็นธรรมชาติเดิมแท้ เพราะฉะนี้แล ความไม่ดิ้นรนทะยานไปในอารมณ์ทั้งปวง ด้วยตัณหาอุปาทาน จึงเป็นความดับสนิทไปแต่ต้นมือแล้ว.



เสียงขลุ่ยหวนกลับมาหากอไผ่
ว่าไผ่ลำตัดไปจากไผ่กอ
เสียงก็หวนกลับมาหากอไผ่
เหมือนไอน้ำจากทะเลเป็นเมฆา

เหมือนตัณหาพาคนด้นพิภพ
วิ่งมาสู่แดนวิสุทธิ์หยุดเกเร
อันความวุ่นวิ่งมาหาความว่าง
ในที่สุดก็ต้องหยุดเหมือนอย่างเคย

จงคิดให้เห็นความตามนี้หนอ
ทำขลุ่ยพอเป่าเป็นเสียงมา
เป่าเท่าไรกลับกันเท่านั้นหนา
กลายเป็นฝนกลับมาสู่ทะเลฯ

พอสิ้นฤทธิ์ก็ตระหลบหนทางเห
ไม่เถลไถลไปที่ไหนเลย;
ไม่มีทางไปไหนสหายเอ๋ย
ความหยุดเฉยเป็นเนื้อแท้แก่ธรรมเอยฯ

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โคะโคะโระ

Rating:★★★★
Category:Books
Genre: Literature & Fiction
Author:นะทซึเมะ โซเซะคิ



ได้หนังสือเล่มนี้มาอ่านด้วยความอนุเคราะห์ (ให้ยืม) จากม่อน (commonperson) เพื่อนมัลติพลายที่คุยกันมาพักใหญ่โดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญให้เป็นคอนแทกกัน

เข้าใจว่าม่อนจัดหนังสือเล่มนี้มาให้ เพราะรู้ว่าฉันเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ แต่ตัวเขาจะกินใจกับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้แค่ไหน และอย่างไร รอเขามาบอกเองน่าจะดี

‘โคะโคะโระ’ เป็นวรรณกรรมซึ่ง นะทซึเมะ โซเซะคิ เขียนขึ้นในปี 1914 ..เกือบร้อยปีมาแล้ว เรื่องความคลาสสิกและการยอมรับจากคนอ่านญี่ปุ่นแทบไม่ต้องพูดถึง หนังสือเล่มนี้ได้รับเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กนักเรียนมัธยมปลาย (ไม่แน่ใจว่านานกี่สิบปี)โดยคัดเลือกบทสุดท้ายในจำนวนทั้งหมด 3 บทของหนังสือเล่มนี้

โคะโคะโระ ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง ‘หัวใจ’ รู้อย่างนี้อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเป็นนวนิยายโรแมนติก หวานแหววดาษดื่น ความรักที่เขาเล่าไว้ในเรื่องมีรสชาติขมขื่น ด้วยคมมีดขูดลึกเป็นแผลเรื้อรังที่กลางใจ และพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งไปในที่สุด

ไม่ต้องอาศัยความรู้ภาษาญี่ปุ่นหรอก อันนั้นฉันมีน้อยจนแทบใช้อะไรไม่ได้ แต่พอนึกเอาเองได้ว่าที่โซเซะคิตั้งชื่อหนังสือว่า โคะโคะโระ เพราะนี่เป็นการเปิดเปลือยหัวใจผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งมีวิถีชีวิตแปลกประหลาด โดดเดี่ยวตัวเองจากสังคมด้วยการไม่ทำงานเป็นหลักแหล่ง ไม่คบหาสมาคมกับผู้คน เก็บตัวใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่กับบ้าน กับภรรยาและหญิงรับใช้อีกคน

ทุกๆ เดือน ชายคนนี้จะต้องไปเคารพหลุมศพของคนคนหนึ่งตามลำพัง เราจะพูดว่า กิจกรรมนี้นับเป็นวัตรปฏิบัติที่เป็นเรื่องเป็นราวและสำคัญที่สุดในชีวิตไร้แก่นสารของเขาเลยก็ได้

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเขาทำให้คนในหลุมนั้นต้องตายนั่นเอง

คนเราเกิดมาแล้ว ไม่ว่าจะยากดีมีจน มีอวัยวะครบถ้วนหรือไม่ ผิดเพศหรือไม่ผิดเพศ เกิดเป็นอัจฉริยะ หรือโง่ทึบ ก็ควรจะมีชีวิตที่ผ่านครบทั้งรสหวานหอมซ่อนเปรี้ยว เผ็ดบ้าง เค็มบ้าง มันบ้าง ฝืดบ้าง สลับกันไป ได้สัมผัสกับความรู้สึกสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เครียดบ้าง แต่ก็มีความหรรษาและตื่นเต้น รื่นรมย์ในบางที แต่ทำไมผู้ชายคนนี้ถึงต้องลงโทษตัวเองให้มีชีวิตที่มีโอกาสพบแต่ความขม ขื่น ข้นคลั่ก คาวราวกับกระอักเลือดในอกขึ้นมากลบในปาก แสงอาทิตย์ของผู้ชายคนนี้ไปซ่อนอยู่ที่ไหน ทำไมถึงทิ้งไว้แต่ความหนาวเยียบ อับชื้น ที่รังแต่จะทำให้ชีวิตขึ้นรา

อะไรที่ทำให้แม้แต่ความรักซื่อสัตย์จากคนสวยผู้เรืองราศีผ่องใสเช่นภรรยาของเขาไม่อาจเยียวยา หรือแม้แต่จะช่วยฉุดรั้งจากความหมองหม่นที่กดเขาให้จมอยู่กับก้นบ่อ ให้ลอยขึ้นมามองเห็นโลกโดยไม่ต้องผ่านผืนน้ำสกปรกในบ่อได้

ฉันอ่านเรื่องของเขาแล้วแสนเวทนาสงสาร โอเค เนื้อตัวคนเรามีบาดแผลจากการกระทำของคนอื่นทั้งนั้น แต่การที่เราถูกคนคนหนึ่งทำร้าย ไม่ได้แปลว่าโลกทั้งใบทำร้ายเรา แล้วเราต้องแก้แค้นกับคนทั้งโลกสักหน่อย

อีกเรื่องคือความรัก ฉันคิดแบบฉันว่าความรักเป็นเรื่องของการให้ ถ้าเรารักเขา เราก็ให้ความรักไป ถ้าเขารักเรา เขาก็ให้ความรักมา ถ้าเรารักกันมันถึงจะดี เพราะต่างคนต่างให้ และต่างคนต่างรับ

ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน เป็นเรื่องของใจที่ตรงกัน ถ้าใจเขาไม่ตรงกับเรา แต่ไปตรงกับคนอื่น ก็ต้องทำใจ ไม่แย่ง หรือไม่เกเร เพราะอย่างน้อย เราต้องอยู่ต่อไปอย่างรักตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง ถึงเราจะไม่ได้รับการเลือก อย่างน้อยเราก็จะได้ภูมิใจที่เราเคารพการเลือกของคนที่เรารัก

ที่คิดแบบนี้ได้ คงเป็นเพราะฉันโต (มาก) แล้ว ผ่านโลกมาเยอะ เห็นอะไรมาเยอะแล้ว คิดมาเยอะแล้ว ถ้าตอนที่เกิดเรื่อง ‘เขา’ โตกว่านั้น หรือถ้าเพียงแต่ ‘โลก’ของเขาไม่ได้ปิดแคบแบบที่เป็น แต่เปิดต้อนรับความรักความหวังดีจากมนุษย์รอบตัวบ้าง รังสีเมตตาอารีอาจจะพอให้แสงสว่างและความอบอุ่น ช่วยกล่อมเกลากมลความคิดของเขาให้คลายความเคียดแค้นจนอ่อนโยน รู้จักให้อภัยและเริ่มต้นใหม่ได้

หากเขาไม่โดดเดี่ยวอย่างนั้น ชีวิตของเขาคงไม่จบแบบนี้
ฉันคิดอย่างนั้นนะ




บันทึก:
• นิยายเรื่องนี้โคตรมาโซเลย อ่านแล้วทั้งอึดอัด ทั้งหดหู่ ดีนะ ที่มาอ่านเอาตอนแก่แล้ว
• อาจจะเป็นด้วยการแปลจากสำนวนภาษาที่เขียนขึ้นเมื่อเกือบร้อยปีก่อน โดยอาจารย์ ภาษาญี่ปุ่น ดร.ปรียา อิงคาภิรมย์ และดร.กนก ศฤวคารินทร์ ซึ่งขณะที่แปลยังเป็นนักศึกษา ป. เอก ภาษาญี่ปุ่น และอาจจะรวมทั้งอัตลักษณ์ของโซเซะคิเองด้วย ที่ทำให้ โคะโคะโระ ฉบับแปลนี้ จัดเเป็นหนังสือที่อ่านยากเอาการ โดยเฉพาะสองบทแรก ปราบเซียนชัดๆ ใครอึดไม่พอ หมดความอยากรู้ หมดความมานะ แป้ก ถอดใจ วางเสียก่อน จะไปไม่ถึงบทที่สาม ซึ่งเป็นจุดพีคของเรื่องทั้งหมด และเมื่อไปไม่ถึงบทที่สาม ก็เท่ากับหมดโอกาสทำความเข้าใจกับเรื่องราวทั้งหมดที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้น
• ฉันเชื่อว่า โคะโคะโระ ฉบับภาษาญี่ปุ่นก็คงไม่ได้เป็นหนังสือที่อ่านง่าย แต่บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่อาจจะพอเหลือสิ่งเชื่อมโยงกันได้ ฉันว่า คนญี่ปุ่นจะอ่าน โคะโคะโระ ได้เก็ตดี เก็ตง่ายกว่าคนไทยอ่านฉบับแปล เช่นเดียวกับคนไทยอ่านข้างหลังภาพ เราย่อม (น่าจะ) หวังผลได้ดีกว่าคนญี่ปุ่นอ่านข้างหลังภาพฉบับแปล ..หวังว่านะ
• ฉันเอง ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เลยขาดความอินกับความเกี่ยวเนื่องเรื่องยุคสมัย ที่ว่ากันว่าเป็นอีกแรงกดดันหนึ่งที่กระทำต่อตัวละคร และการเปลี่ยนยุคสมัยก็เป็นจุดหักเหให้เขาเลี้ยวชีวิตลงเหวอย่างที่เขียนไว้ในเรื่อง แต่นี่แค่อ่านโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ก็ยังหดหู่ขนาดนี้เลย คิดดูสิว่าคนอ่านญี่ปุ่นที่มีความ relate กับยุคสมัยเดียวกับที่หนังสือเขียนขึ้นจะอินขนาดไหน (นึกเปรียบเทียบความอินกับชีวิตแม่พลอยของเรากับแม่เราดูเล่นๆ ก็ได้ )
• หลังจากพิชิตโคะโคะโระได้ ฉันรู้สึกฮึกเหิมมาก เกิดแรงบันดาลใจ หยิบ ‘รอยชีวิต’ ของเคนซาบุโร โอเอะ นักเขียนโนเบล ที่อ่านแล้วมืดมนอนธกาลพอกันจนต้องหยิบ-วาง หยิบ-วาง อยู่หลายปี ขึ้นมาอ่านใหม่ (ตอนนี้รู้สึกสนุกแล้วด้วยแหละ)
• มันน่าคิดจริงๆ ว่าเขากับเพื่อนของเขามี something กันหรือเปล่า ทำไมถึงได้แคร์กันมาก แล้วก็ทำไมแค่ผู้หญิงคนเดียว เพื่อนถึงให้เพื่อนไม่ได้ หรือเพราะว่าเพื่อนไม่อยากให้เพื่อนได้ผู้หญิง? (คิดแบบมาร-อิอิ)
• ขอขอบคุณเจ้าของหนังสืออีกครั้ง ถ้าสภาพในวันส่งคืนออกจะเยินไปเยอะ หวังว่าจะได้รับการอภัย กว่าจะอ่านจบต้องหอบหิ้วกันอยู่นาน ทั้งน้ำ ขนม และน้ำลาย ทิ้งรอยไว้ในหนังสือเธอเพียบเลย ม่อน เออ..แล้วต่อให้มี ผ ญี่ปุ่นคอยสอนให้อ่านก็ใช่ว่าจะอ่านฉบับภาษาญี่ปุ่นเข้าใจได้ง่ายๆ นะเธอ


มองอย่างไรดี?






เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง ฯ

พระธรรมโฆษาจารย์
[ พุทธทาส ภิกฺขุ ]