Rating: | ★★★★ |
Category: | Movies |
Genre: | Drama |
พักนี้ฉันได้ดูหนังดราม่าบีบคั้นหัวใจของผู้กำกับ Jim Sheridan ถึง 2 เรื่อง เริ่มจาก VCD เรื่องราวของครอบครัวไอริชกับชีวิตใหม่ในอเมริกา ใน In America (2002) ต่อด้วยการเดินเข้าโรงไปชมหนังรีเมค (จากหนังภาษาอะไรก็ลืมไปแล้ว) เรื่องเล่าจากบาดแผลและความกดดัน ที่ “ความคาดหวัง” จากครอบครัว ได้บดขยี้ลงบนครอบครัวเล็กๆ นั้นจนเกือบจะแตกสลายไม่มีชิ้นดี ใน Brothers (2009)
ดูเผินๆ แล้ว หนังสองเรื่องนี้แทบไม่มีอะไรคล้ายคลึงกันเลย In America นั้นเป็นหนังอินดี้เล็กๆ ไม่ปรากฏนักแสดงที่เรารู้จักชื่ออยู่ในหนัง ไม่ได้ใช้เทคนิคในการถ่ายทำ การตัดต่อสวิงสวิงสวาย เชื่อว่าแม้เงินลงทุนก็ไม่ได้มากมายอะไร ส่วน Brothers เป็นหนังฮอลลีวูดสตูดิโอดัง ไม่ต้องนับต้นทุนในการถ่ายทำ ค่าโพสต์โปรดักชั่น และค่าอะไรต่อมิอะไรอีกจิปาถะหรอก แค่รัศมีจากชื่อเสียง และเสน่ห์ของนักแสดงนำฝีมือเยี่ยมอย่าง Natalie Portman, Jake Gyllenhaal รวมทั้ง Tobey Maguire ก็จับตา เรียกคนดูเข้าไปนั่งน้ำตาไหลในโรงได้แล้ว
แต่ถ้าจะพูดถึงความเชื่อมโยงกันแล้วละก็ มีออกเยอะแยะไป
ข้อที่เด่นจับตาคือ หนังทั้งสองถ่ายทอดรายละเอียดซับซ้อนในความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวได้อย่างคนเข้าใจ เล่าเรื่องได้ละเอียดลออสวยงาม สะเทือนใจ และหนังทั้งสองมีตัวละครเด็กหญิงพี่น้องทั้งคู่
ตลกดีถ้าจะคิดว่าผู้กำกับตั้งอกตั้งใจจะให้เป็น ‘เด็กหญิงสองพี่น้อง’ แต่ฉันว่าเชอริแดนคงติดใจอะไรสักอย่างกับ ‘เด็กหญิงสองพี่น้อง’ ถึงได้มอบความสำคัญในการดำเนินเรื่องด้วยบทบาทอันจับตาให้กับเด็กหญิงคนพี่ทั้งสองเรื่อง
ใน In America เด็กหญิงคนพี่วัย 10 ขวบ (Sarah Bolger) เป็นพี่คนโตที่โตเกินวัย ในบ้านที่เหมือนจะรักกันดี แต่จริงๆ แล้วมีปัญหาจากบาดแผลที่พ่อแม่ไม่ยอมให้หายเสียที เธอคนนี้เป็นคนเรียกสติพ่อ ผู้เอาแต่ตีอกชกหัว ชอกช้ำ แต่ไม่ยอมปล่อยให้น้ำตาไหลออกมาชะล้างความผิดในใจ จากการเชื่อว่าเป็นเพราะความเลินเล่อของตัวเอง จึงทำให้สูญเสียลูกชายคนเล็กไป เด็กคนนี้ปลุกพ่อซึ่งเอาแต่ดองตัวเองอยู่แต่ในความทุกข์จากความรู้สึกผิดและประกาศถึงการมีตัวตนของเธอกับน้องสาวว่า น้องชายผู้จากไปก็เป็นน้องชายของพวกเธอเหมือนกัน และเธอก็ร้องไห้ให้กับการจากไปของเขาด้วย เพียงแต่ไม่มีใครรู้
นั่นแหละ ผู้เป็นพ่อถึงได้ตาสว่าง คิดออกว่าระหว่างการคร่ำครวญว่าทำให้ลูกตาย กับการเอาใจใส่ดูแลลูกตาดำๆ ที่ยังมีลมหายใจอยู่นั้น อะไรคือสิ่งที่ควรทำ
ส่วนใน Brothers เด็กหญิงคนพี่ (Bailee Madison) เป็นเด็กที่เป็นตัวของตัวเอง แบบเด็กอเมริกัน ยังไม่โตพอจะเก็บความรู้สึกได้ และซื่อสัตย์กับความรู้สึกจนกลายเป็นลูกร้ายกาจที่ทุบตบะพ่อซึ่งเพิ่งลากสังขารอันเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจจากสงครามแตะดังโพละ (แม่คนนี้ทำฉันนึกถึงความร้ายกาจของยัยเด็กตกกระใน Atonement ขึ้นมาเชียว)
ตัวพ่อในเรื่องนี้ (โทบี้) เองก็มีน้องชายเป็นคู่กันอีกคน (คือเจค) ภายใต้แรงกดดันมหาศาลของสายตาพ่อแม่ พี่คือลูกที่น่าภาคภูมิใจ ฉลาด เก่ง รักดี เป็นฮีโร่ เป็นพ่อที่ดี มีเมียสวย ครอบครัวน่ารัก ในขณะที่ตัวน้องเป็นภาระของครอบครัว เป็นตัวปัญหาของสังคม และนี่คือปมเริ่มต้นของปัญหาชีวิต และความสัมพันธ์ที่ก่อเรื่องขึ้นใน Brothers
หนังทั้งสองเรื่องยังมีตัวละครที่ทำหน้าที่คล้ายกันในฐานะ “คนนอก” อีกตัว คือ ศิลปินผิวดำ (Djimon Hounsou) ใน In America และ น้องชายของพ่อ ใน Brothers เป็นบทบาทที่ทำให้ตัวละครหลักมองเห็นคุณค่าแท้จริงของครอบครัว และความสำคัญของการรักษาครอบครัวเอาไว้
ฉันว่าตัวละครนี้แหละ ที่เราต้องขอบคุณ
ขอบคุณเหลือเกินกับการเลือกบทบาทที่ไม่ใช่ตัวเด่น แต่เป็นตัวที่ช่วยดันตัวละครหลักให้โดดเด่น เพราะด้วยการแสดงของคุณ ทำให้คนดูอย่างฉันรู้สึกเหมือนกันว่า ที่สุดแล้ว ครอบครัวนี่แหละ ที่เป็นขุมกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ เป็นอ้อมกอดอบอุ่นยามเหน็บหนาว เป็นที่บำบัดเยียวยายามบาดเจ็บ
ช่างเป็นหนังสองเรื่องที่แม้ถูกทำให้สะบักสะบอมกับความรู้สึกมาตลอดเรื่อง แต่ก็จบอย่างอบอุ่นใจ
แล้วฉันก็นึกถึงครอบครัววุ่นๆ แต่เป็นแบ็คอัพที่หนักแน่น แสนดี และเป็นสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดซึ่งฉันไม่ต้องไขว่คว้าหา มีหน้าที่แค่ต้องดูแลรักษาเอาไว้ให้ดีอยู่เสมอ
บันทึก :
• Brothers รอบที่ไปดูนั้นคือรอบเช้า วันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2553 ที่โรงหนังสยาม ราคาตั๋ว 80 บาททุกที่นั่ง ฉันเลยเลือกนั่งชั้นบน ที่ปกติแล้วเขาขายตั๋วราคา 120 บาท รอบนั้นทั้งโรงสยามมีคนดู 6 คน-โอ้ แม่จ้าว Apex จะเจ๊งไหม?
• จริงๆ ตั้งใจจะไปดู Sherlock Holm แต่ไปไม่ทัน
• ฉันว่า โทบี้ แมคไกวร์ พยายามมากไปหน่อย ไม่ค่อยชอบการแสดงของเขาเท่าไหร่
• น้องคนที่แสดงเป็นพี่คนโตใน Brothers เจ๋งจนอยากจะรู้จัก Acting Coach ของหล่อนเลย
• Brothers เตือนให้รู้ และระวังความเห็นแก่ตัวที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในใจตัวเอง (แต่ให้ตายเหอะ ถ้าอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น ฉันก็ไม่รู้จะทำไงเหมือนกันแหละ)
• อีกเรื่องที่สอนคือ ความหึง ทำให้เกิดปัญหาเสมอ (แต่ก็ช่วยไม่ได้หรอกนะ ถ้าคุณมีน้องชายที่ทั้งหล่อและสูงสมาร์ท-กว่าตัวเอง-อย่างนั้นน่ะ)
• ฉันว่าเขาตั้งชื่อเรื่องได้ดีนะ Brothers เนี่ย ชีวิตผู้ชายสองคนไปกันคนละทิศละทางได้ขนาดนี้ ก็เพราะแรงกดดันจากการเป็นพี่น้องกัน แต่ชีวิตที่กระจัดกระจายกระจุยไปคนละทิศก็กลับมารวมเป็นรูปเป็นร่างได้ เพราะความเป็นพี่น้องกันเหมือนกัน (คิดแล้วอิจฉาผู้ชายว่ะ)
• น้องคนที่เล่นเป็นพี่สาวคนโตใน In America เสียงดีมาก แล้วก็เลือกเพลงเก่งจังนะ Desperado เนี่ย ใช่เลย
• ฉันว่าฉันชอบ In America มากกว่า Brothers เพราะรู้สึกว่าเรื่องหลังคนดูถูก Built ความรู้สึกมากไป เรื่องแรกดูค่อยๆ พาความรู้สึกไปเนียนๆ ดีกว่า
• มันต้องเป็นความศรัทธาส่วนตัว ที่ทำให้ผู้กำกับคนนี้สื่อสารออกมาได้อย่างเด่นชัดในหนังทั้งสองเรื่องของเขา (หนังครอบครัวเรื่องต่อไปจะซ้ำแนวเดิมอีกไหมจ๊ะ?)