Rating: | ★★★★★ |
Category: | Movies |
Genre: | Drama |
ดิฉันชอบดูหนังที่เล่าเรื่องของเกย์ ไม่รู้จะบอกเหตุผลยังไงเหมือนกัน นอกจากหนังที่เล่าเรื่องเกย์ ก็ยังชอบดูหนังที่เล่าเรื่องเลสเบี้ยนและเรื่องของสาวประเภทสอง กับแดรกควีนได้อีก (โอ้..แสนจะคิดถึง To Wong Foo ที่ดูไม่ได้แล้วเพราะเครื่องเล่นวิดีโอถอดวิญญาณออกจากร่างไปเสียแล้ว)
Breakfast on Pluto (2005) หรือในชื่อไทยว่า “โลกใบสุดท้ายของผู้ชายนะยะ” เล่าเรื่องของสาวประเภทสอง ..เรียกอย่างนี้แล้วก็ไม่รู้จะมีคนมาจิก มาเถียงอีกไหมว่าเรียกถูก เรียกผิด หรือเรียกแบบไม่ให้เกียรติ เหยียดหยาม (บลา-บลา-บลา) ดังนั้น ต่อไปขอเรียกชื่อเจ้าตัวว่า "น้องคิต" ซึ่งย่อมาจากคิตเทน (Kitten)
คิตเทน (น้องเหมียว) เป็นชื่อเล่นที่เจ้าตัว Patrick Bradem (Cillian Murphy) ใช้เรียกตัวเอง น้องคิตถือกำเนิดขึ้นราวปี ’60s ณ เมืองชายแดนไอร์แลนด์ เป็นเด็กที่พ่อแม่ไม่เลี้ยง โดนแม่จับใส่ตะกร้ามาวางไว้ที่ประตูหลังโบสถ์ในเช้าวันคริสมาสต์อีฟ แล้วก็จากไป หลวงพ่อเลียม (Liam Neeson) ซึ่งที่จริงก็คือพ่อของน้องคิตนั่นแหละ ก็เอาลูกไปให้แม่ม่ายนางหนึ่งเลี้ยงเป็นลูก
โดยที่ไม่ทราบถึงเหตุผลกลใด น้องคิตเริ่มแอบแต่งหญิงเมื่ออายุได้สักสิบขวบ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา น้องก็ไม่พยายามแอ๊บแมนอีกต่อไป สร้างความอิดหนาระอาใจให้ผู้ปกครองและครูบาอาจารย์ที่ไม่อาจยอมรับการเกิดขึ้นและตั้งอยู่ ก่อนจะดับไปของมนุษย์เพศอื่นนอกจากชายและหญิง เป็นอย่างมาก ...โชคยังดีที่น้องคิตยังมีเพื่อนแท้อีก ๓ คน กับความสัมพันธ์อันมีค่า จนน่าจะเรียกได้ว่าคุ้มที่ได้เกิดมา แม้จะเกิดมาเป็นผู้ชายก็ไม่ใช่ ผู้หญิงก็ไม่เชิง
ในยุค ’70s นั้น ในไอร์แลนด์มีขบวนการปลดปล่อย (จำข่าววินาศกรรม ระเบิดพลีชีพ ฯลฯ ในอังกฤษตอนเรายังเด็กๆ ได้ไหม นั่นแหละ ประมาณนั้นเลย) หนุ่มสาวยุคนั้นถ้าไม่ nerd เกินไปนักก็มักหาตัวได้ในส่วนหนึ่งส่วนใดของกระบวนการนี้ และก็ไอ้การปฏิวัตินี่แหละที่ทำให้น้องคิตต้องเสียเพื่อน 1 ใน 3 ของเพื่อนที่มีอยู่ไป โดยที่เขาไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่ด้วยเลย
น้องคิตยอมรับความรุนแรงมีอยู่รายรอบตัวไม่ได้ ในที่สุดจึงตัดสินใจออกจากบ้านเพื่อเริ่มต้นตามหาแม่ ที่ใครๆ ก็ว่ากันว่า สวยเซ็กซี่เหมือน Mitzi Garner ที่ลอนดอน ...แล้วการผจญภัยของเธอก็เริ่มขึ้น
มันน่าสงสารนะ คนคนหนึ่ง รู้ว่าพ่อคือใคร แม่คือใคร แต่ต้องไปโตในฐานะลูกเลี้ยงของคนอื่น แค่นั้นยังไม่พอ ดันเกิดผิดพวกกับคนหมู่มาก เลยไม่มีใครกล้าเสนอหน้ามารักมาจริงใจด้วย ตลอดทางจากชายแดนสู่ลอนดอนของน้องคิตก็เลยล้มลุกคลุกคลานจนแม้จะตลกแต่ก็ขำออกมาทั้งน้ำตา
น้องคิตไม่รู้ว่าแม่อยู่ไหน การหาแม่ในลอนดอนเลยเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ก็แหม๋ แม้แต่รูปแม่เธอยังไม่มีเลย ข้อมูลที่มีก็แค่รู้จากขี้ปากคนอื่นว่า แม่หน้าเหมือนดาราคนหนึ่ง หลังจากเกือบเอาตัวไม่รอดจากเกย์มาโซวิกลจริต น้องคิตก็มาเจอหนุ่มมายากล พ่อคนนี้แสนโรแมนติก ขณะที่น้องคิตเองก็ขาดรัก ในที่สุดเธอเลยกลายเป็นผู้ช่วยในการโชว์ไปโดยปริยาย มีวันหนึ่ง ขณะกำลังโชว์มุกเดิมๆ กันอยู่ น้องคิตก็ถูกชาลี เพื่อน 1 ใน 2 ที่เหลืออยู่บุกไปลากตัวออกมา ชาลีโกรธที่หนุ่มมายากลใช้เพื่อนเป็นเครื่องมือ
ชาลีเค้าตามเออร์วินแฟนหนุ่มมาลอนดอน ที่จริงแล้ว เพื่อจะมาทำแท้ง
เออร์วินอยู่ในขบวนการปฏิวัตินั่น ชาลีรู้สึกไม่มั่นคง ในภาวะเช่นนี้เธอไม่คิดว่าพร้อมและสามารถให้กำเนิดและให้การเลี้ยงดูลูกได้ น้องคิตวางตัวเป็นเพื่อนที่ดี อิฉันว่าเธอคงสะเทือนใจมาก (ก็เธอก็คือหนึ่งในเด็กที่พ่อแม่ไม่พร้อมจะมีไม่ใช่หรือ) แต่เธอไม่ว่าอะไร เธอแค่ยืนอยู่เคียงข้างเพื่อน โชคดีของเด็ก ที่ระหว่างนั่งรอคิว ชาลีถามน้องคิตว่า
“(ถ้าให้เกิดมา) อนาคตลูกฉันจะเป็นยังไง?”
“ก็คงเลวร้ายมากๆ...เหมือนฉัน” น้องคิตตอบเพื่อน ไม่ใช่ด้วยน้ำเสียงประชด แต่คือการเคียงข้าง ให้กำลังใจ
แค่นั้นก็เพียงพอที่จะทำให้ชาลีเปลี่ยนใจ ลุกขึ้นเดินออกไปนอกคลินิก
“เธอบอกว่าเด็กคนนี้อาจเลวร้ายมากๆ เหมือนเธอ” ชาลีว่า
“อาจเลวร้ายกว่า” น้องคิตบอก
“แต่ฉันรัก ที่เธอเลวร้ายอย่างนี้แหละ”
แล้วสองคนก็กอดกัน อิฉันก็น้ำตาซึม
เหมือนว่าน้องคิตยังใช้กรรมไม่หมด คืนหนึ่งตอนออกเที่ยว เธอเกือบได้สานสัมพันธ์กับทหารหนุ่มหล่อล่ำแล้วเชียว ดันมีระเบิดเสียก่อน และแทนที่จะดังเพราะนักข่าวมาถ่ายรูปทำข่าว ดันกลายเป็นว่าเธอถูกสงสัยว่าเป็นฆาตกรไอริช ปลอมตัวเป็นผู้หญิงมาวางระเบิดไปเสีย
แม้จะถูกซ้อมจนอ่วม แต่น้องคิตกลับรู้สึกปลอดภัยดีในห้องขังเล็กๆ ของเธอ ก็โลกข้างนอกช่างสับสน ผู้คนไว้วางใจกันไม่ได้ จ้องจะเอาเปรียบกันตลอดเวลา แล้วก็ดูอันตรายเสียจริง พอถูกปล่อยออกมาน้องคิตเลยคว้างๆ พี่ตำรวจเลยตามมาแนะนำงานการที่เหมาะสมให้ เป็นนางโชว์ จะนั่งอยู่ในห้องเล็กๆ คอยพูดคุยกับหนุ่มๆ ที่ต้องหยอดเหรียญเสียก่อน
และโดยไม่เคยคาดหวังมาก่อน วันหนึ่งเสียงที่คุยกับเธอกลายเป็นเสียงที่เธอคุ้ยเคย มาในการคุยกันที่ก็คุ้นเคยกันอีก (จริงๆ แล้วการคุยกันแบบนี้เหมือนการสารภาพบาปจริงๆ ด้วย) และเสียงนั้น ที่บอกทางไปบ้านแม่
น้องคิตจำแลงกายไปเจอแม่ ก่อนเจอแม่ เธอได้พบน้องชายต่างพ่อผู้มีชื่อเดียวกัน คือแพ็ททริก ...เธอพบว่าแม่มีใหม่ชีวิตของแม่แล้ว จึงจากมาโดยไม่ได้ติดใจอะไร
คนที่ติดใจคือน้องชายของเธอ
แต่ไม่ได้ติดใจว่าทำไมเธอต้องอ้างเหตุผลเพื่อมาที่บ้านของเขาหรอก ดูเหมือนเธอกับน้องชายจะชอบกันอย่างประหลาดด้วยซ้ำ
จากนั้น ข่าวร้ายก็เดินทางมาถึงน้องคิตอีกครั้ง พ่อของเธอส่งข่าวมาบอกว่าเออร์วินถูกฆ่า แล้วชาลีซึ่งกำลังท้องแก่ก็กำลังแย่ น้องคิตกลับมาที่โบสถ์ พ่อเปิดประตูรับ น้องคิตไม่แน่ใจว่าควรเรียกพ่อว่าไง พ่อบอก “Father” (เพราะจริงๆ พ่อก็เป็นทั้งพ่อ และบาทหลวงอยู่แล้ว) น้องคิตไม่แน่ใจว่าควรเข้าไป พ่อบอก เข้ามาเถิด พ่อสวดมนต์ให้ลูกกลับตลอดมา
ซีนต่อมา สองพ่อลูกเปิดประตูพบชาลีนอนหันหลังให้ประตู อย่างโศก อย่างซึมสลด แล้วน้องคิตก็ปีนขึ้นเตียง นอนกอดเพื่อนจากด้านหลัง บอกเพื่อนว่าไม่ต้องเล่าอะไร แล้วเพื่อนก็ปิดตาหลับ ...มันช่างอบอุ่นใจ
เช้ารุ่งขึ้นน้องคิตแต่งตัวสวยเปิดประตูไปหยิบนมที่ถูกนำมาส่งหน้าประตู มุมเดิมกับตอนที่เธอมาถึงโบสถ์แห่งนี้เชียว แล้วสองคนนั่งจิบชามื้อเช้า พ่อมองลึกลงในตาลูกแล้วบอกว่า “You have your mother’s eyes” พ่ออธิบายเพิ่มว่า มันเป็นสีฟ้าเหมือนสีน้ำทะเลที่ Rosses Point
น้องคิตมองหน้าพ่อ นี่เป็นครั้งแรกที่พ่อพูดถึงแม่ เธอถาม พ่อเคยพาแม่ไปหรอ พ่อบอก หลายครั้ง น้องคิตมองพ่อ น้ำตาเอ่อดวงตาสีฟ้าสวยของเธอ เธอว่า
“I went looking for her but I found you.”
...เป็นประโยคที่จับใจที่สุดในหนังเรื่องนี้
หนังไม่ได้จบตรงนี้ แต่ยังเล่าถึงวิบากกรรมของสองพ่อลูก และสองแม่ลูก (ชาลีกับลูกในท้อง) ช็อคความรู้สึกเหมือนอ่านเรื่องสั้นหักมุมเลย
แต่ตอนจบ แลนดี้งได้สวยนะ อิฉันว่า
บันทึก
• เป็นหนังที่บอกอะไรเราหลายอย่างโดยไม่ใช้ไดอาล็อก ดูแล้วรู้สึกดีจริงเลย
• อยากให้ไปหาคำตอบกันเอง ว่าทำไมหนังถึงชื่อ Breakfast ob Pluto มีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับ Breakfast at Tiffany's อย่างไรไหม
• ได้ดีวีดีเรื่องนี้มาจากกระบะลดราคา ถ้าจำไม่ผิด อยู่ในคาร์ฟูร์ เค้าลดราคาเหลือ 79 บาท
• น่าประทับใจมากที่ได้ทราบว่าพี่ผู้กำกับคือ Niel Jordan เคยกำกับหนังที่อิฉันชอบอย่าง Interview with the Vampire และ The End of the Affair
• หนังเรื่องนี้ไม่มีเลิฟซีนน่าเกลียดเลย มีแต่ภาพสวยๆ ที่น่ารัก น่าเอ็นดู แล้วก็น่าเห็นใจ
• Cillian Murphy ที่เล่นเป็นน้องคิต (เคยเล่น Red Eye แต่อิฉันไม่เคยดู) ตาสวยจริงๆ แล้วก็เล่นได้ดีมาก อิฉันสามารถมองตัวละครตัวนี้ได้อย่างดื่มด่ำมากๆ
• หนังเรื่องนี้ใช้เพลงที่ไม่ใช่เพลงป๊อป จากยุค ’70 แต่ละเพลงฟังแล้วเพราะๆ ทั้งนั้นเลย
• ไม่รู้ว่าบาปหลวงนิกายของหลวงพ่อเลียมมีครอบครัวได้ไหม ถ้ามีได้แล้ว หลวงพ่อเลียมจะเลี้ยงน้องคิตเองเลยใช่ไหม
• หรือว่าเพราะต้องเอาไปให้แม่ม่ายเลี้ยงให้ โดยส่งเช็คค่าเลี้ยงดูเป็นระยะๆ นั้นเพราะมีศีลว่า ห้ามมีเมีย ห้ามมีลูก
• เป็นหนังที่ shock และ shake คนดูอย่างแรง โดยไม่ใช้ความรุนแรง
• เขาทำฉากระเบิด ไฟไหม้ได้สวยมาก และแรงมาก โดยไม่ได้รุนแรงมาก (เอ๊ะ ยังไง)
• สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังเรื่องนี้คือ คนอื่นจะมองเราว่าแตกต่าง น่ารังเกียจยังไงก็ช่าง แค่เราเข้าใจตัวเอง และคนที่เรารักเข้าใจเรา แค่นั้นก็พอแล้ว อันนี้ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยหรอก แต่คนเราเกิดจากร้อยพ่อพันแม่ จะให้มีอะไรเหมือนๆ กัน คิดเหมือนๆ กัน เกลียดเหมือนกัน เห็นคล้อยตามกันไปหมดได้ไง ไม่ใช่กาเหว่าที่บางเพลงนี่หว่า (อ่านจบอย่าลืมยักไหล่เก๋ๆ 1 ครั้ง)