วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2552

จิตต์ จงมั่นคง ชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกินครึ่งศตวรรษ


บางครั้งชีวิตของคนคนหนึ่งซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกินครึ่งศตวรรษ ย่อมมีอะไรให้ค้นหาเรียนรู้มากมาย มีใครบางคนเคยกล่าวว่าการเรียนรู้ชีวิต ก็เหมือนกับการเรียนลัด เพราะประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าก่อนที่เคยผ่านทั้งความถูกความผิดมาแล้วอาจจะ เป็นแบบเรียนให้คนรุ่นต่อๆมาได้ศึกษาเรียนรู้โดยมิต้องเอาชีวิตไปทดลองให้ เสียเวลา แต่นำบทเรียนเหล่านั้นมาต่อยอดให้เกิดคุณค่ามากยิ่งขึ้นต่อไป
        ...หากเมื่อใดก็ตามที่เกิดความมุมานะอุตสาหะขึ้นในจิตใจ แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคอันใหญ่หลวงเพียงไหน ฝันที่ราวกับอยู่ไกลเกินเอื้อม ก็อาจใกล้เพียงมือคว้า...
        นี่มิใช่แค่ประโยคปลอบขวัญประโลมใจ หรือคำพูดธรรมดาสามัญที่ปรากฏอยู่ทั่วไป แต่เป็นมุมชีวิตจริงที่เกิดขึ้นกับอดีตเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งมีความฝันอันแรงกล้าบรรจุเต็มหัวใจ ทว่าโชคชะตากลับบันดาลให้เขาต้องเดินไปบนหนทางที่ปูด้วยขวากหนาม
         นับตั้งแต่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก จิตต์ จงมั่นคง มีความจำเป็นต้องลาออกจากโรงเรียน และไม่มีโอกาสได้เข้าศึกษาต่อที่ไหนอีก เนื่องเพราะพี่ชายคนโตเสียชีวิตลง ทำให้เส้นทางของเขา พลิกผันจากเด็กนักเรียนที่เรียนดี เฉลียวฉลาด และน่าจะได้รับโอกาสศึกษาต่อทางด้านแพทยศาสตร์ดังที่บราเธอร์ผู้สอนท่าน หนึ่งเคยปรารภไว้ กลับต้องออกมาทำงานทั้งที่ยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน
         "ฐานะทางบ้านผมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ พ่อแม่เปิดร้านขายข้าวแกงและขายกาแฟอยู่แถวสี่พระยา ผมก็เกิดที่สี่พระยา ตอนแรกแม่พาไปเข้าเรียนที่โรงเรียนจีนแห่งหนึ่งในย่านตลาดน้อย เรียนกับครูซึ่งติดฝิ่น เวลาสอนครูคนนี้ชอบยืนอยู่ข้างหลังผม เวลาหายใจ กลิ่นก็รดหัวผม ผมบอกครูว่าผมไม่ชอบกลิ่นนี้แต่ครูไม่สนใจ ผมเลยไปบอกแม่ แม่ให้เปลี่ยนโรงเรียน
         ผมจึงมีโอกาสไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก พี่ชายคนโตก็เรียนที่นี่ แม่ขอครูให้ช่วยลดหย่อนค่าเล่าเรียน เพราะสมัยนั้นค่าเล่าเรียนเทอมละ ๗ บาท แพงมาก แม่ขอลดหย่อนเหลือ ๕ บาท ส่วนที่ลดหย่อนครูบอกผมว่าต้องช่วยทำความสะอาดโรงเรียน เวลาเลิกเรียนช่วยปัดกวาดโต๊ะเก้าอี้ ให้สะอาดเรียบร้อย แล้วค่อยกลับบ้าน"
          ช่วงเวลานั้น จิตต์ จงมั่นคง ใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เพียงแค่ ๔ ปี นับจากชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ - มัธยมศึกษาปีที่ ๔
         "ครูบอกว่าสมองผมไบรท์มาก เรียนรู้ได้เร็วมาก น่าจะไปเรียนหมอต่อนะ ผมก็อยากเรียนเหมือนกัน แต่โชคชะตาไม่ดี เกือบๆจบม.๔ พี่ชายคนโตที่เป็นสปอนเซอร์ให้ผมได้เรียน เสียชีวิตลงก่อน พี่ชายผมคนนี้จบ ม.๘ที่อัสสัมชัญ แล้วได้เข้าทำงานที่โรงพิมพ์ฝรั่งแห่งหนึ่ง ทำให้สามารถส่งน้องเรียนได้
         พอพี่ชายคนโตเสียชีวิต ผมก็ออกมาทำงานที่ร้านถ่ายรูปแถวย่านสี่พระยา ขายวิทยุด้วย แต่ผมอยู่ส่วนร้านถ่ายรูป วันหนึ่งมีคนชวนว่าไปดูห้องมืดมั้ย ผมบอกว่าอยากไปดู ช่างห้องมืดเขาก็แสดงการลงน้ำยา ล้างรูปให้ดู แป๊บเดียวได้รูปออกมาแล้ว ผมรู้สึกมหัศจรรย์มาก ตั้งแต่นั้นมารู้สึกสนใจอยากถ่ายรูป
         ผมซื้อกล้องราคาสิบสลึง ซื้อผ่อนนะครับ เพราะสมัยนั้นได้เงินเดือน ๑๐ บาท วันหยุดทีไร ผมก็เอากล้องออกไปตระเวนถ่ายรูป ถ่ายไปถ่ายมาชักจะเก่งขึ้น ออกมาเปิดร้านล้างอัดรูป ร่วมหุ้นกับพี่ชายอีกคน จากนั้น ฐานะเริ่มดีขึ้น ผมซื้อกล้องเยอรมันตัวหนึ่ง พอถึงวันอาทิตย์ มีกิจกรรมที่ต้องทำ คือวันอาทิตย์หนึ่งตระเวนถ่ายรูป อีกวันอาทิตย์หนึ่งเข้าโรงหนัง ดูเรื่องเดียว ๕ รอบเลย นั่งชั้น ๓ ราคา ๑๒ สตางค์ มื้อเที่ยงไม่กิน ที่ว่าดูหนัง ผมไม่ดูนักแสดงหรอก ผมชอบดูแสง ดูเงา ดูมุมภาพ ชอบดูการให้แสงของคนถ่ายภาพ
         คุณเชื่อมั้ยมีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมกำลังถ่ายรูปทางรถไฟ เพราะเห็นมุมสวยดี ปรากฏว่าถูกตำรวจจับ เชิญตัวไปโรงพัก เพราะตำรวจสงสัยว่าผมถ่ายรูปไปทำไม แต่ก่อนจะไปโรงพัก ก็ต้องเอาฟิล์มไปล้างก่อน พอล้างรูปออกมา ตำรวจถึงปล่อยตัว ผมยังงงๆว่าตำรวจจับผมทำไม (หัวเราะ)"
         จิตต์ จงมั่นคง เล่าต่อมาว่าชีวิตในวัยหนุ่มของเขาฝันเพียงแค่ตนเองสามารถถ่ายรูปหากินได้ หากทว่าด้วยบุญกุศลแห่งโชคชะตาที่ยึดมั่นในคติธรรมการดำรงชีวิตหรืออย่างไร ไม่ทราบ ทำให้เขาซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ได้มีโอกาสรับใช้ถวายงานเบื้องพระ ยุคลบาท
        "ตอนสงครามเลิก ผมร่วมทุนกับเพื่อนๆและพี่ชายเปิดร้านล้างอัดขยายรูป โดยการเช่าหน้าร้านโอสถาคาร ระยะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระอนุชา เสด็จพระราชดำเนินนำฟิล์มมาล้างด้วยพระองค์เอง ผมเป็นคนที่เข้าห้องมืดถวายงานพระองค์ท่าน แล้วหลังจากนั้นต่อมา ทรงให้มหาดเล็กเป็นผู้นำฟิล์มมาล้าง ผมถวายงานล้างฟิล์มแด่พระองค์ท่านเป็นเวลา ๓๗ ปี รู้สึกภูมิใจมากที่สุดแล้วในชีวิตนี้"
         ต่อมาไม่นาน ก็ได้แยกหุ้นกับพี่ชาย ออกมาเปิดร้านล้างอัดรูปเอง โดยตั้งชื่อร้านว่า "จิตต์ จงมั่นคง" ขณะเดียวกันก็ไม่เคยละทิ้งด้านการฝึกฝนการถ่ายภาพ
         "สมัยก่อนต้องทำเองหมดทุกกระบวนการ ต้องเรียนรู้ขั้นตอนที่ยากก่อน แล้วถึงจะมาเรียนรู้ในสิ่งที่ง่าย เรื่องการถ่ายรูปผมเรียนรู้ด้วยตนเอง ฝึกถ่ายรูปในกรุงเทพฯ หลายๆที่ และต้องบันทึกไว้หมดว่ารูปนี้ อากาศขนาดนี้ เปิดหน้ากล้องเท่าไหร่ ใช้ความไวแสงเท่าไหร่ แล้วสมัยนั้น ค่ารถเมล์ถูกมากนะ ๒ สตางค์ จากบ้านสี่พระยา นั่งรถเมล์ไปถ่ายรูปในเขาดิน ๒ สตางค์ ไปเขาดินเกือบทุกอาทิตย์เลย หรือระหว่างทางถ้าเห็นที่ไหนถูกใจก็ลงไปถ่ายรูปไว้
         ผมขวนขวายหาความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยการอ่านหนังสือของอเมริกาและอังกฤษ ถ้าคำไหนอ่านแล้วไม่เข้าใจ ผมก็เปิดดิกชันนารี"
         ศิลปินอาวุโสกล่าวว่าสมัยนั้น ชีวิตต้องกินอยู่อย่างมัธยัสถ์ เพื่อเก็บเงินเอาไว้ซื้ออุปกรณ์กล้องและซื้อหนังสือเพื่อศึกษาด้านการถ่าย ภาพด้วยตนเอง
         "แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมไม่เคยลืมเลย ในระหว่างที่ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ชั้น ม.๓ พอเลิกเรียน ผมชอบไปร้านหนังสือในเซ็นทรัล ซึ่งตั้งอยู่ที่สี่พระยา เข้าไปดูหนังสือสอนการถ่ายภาพ เจ้าของร้านเป็นใครไม่ทราบ ผมเข้าไปดูทุกเย็น จนกระทั่งวันหนึ่งคุณเตียง เจ้าของเซ็นทรัล เอ่ยปากอนุญาตให้ผมยืมหนังสือไปอ่านที่บ้าน คงเห็นว่าผมมาทุกเย็น โอ้โฮ ตอนนั้นผมรู้สึกดีใจมาก เราไม่ต้องซื้อหนังสือเอง มีคนใจดีให้ยืม เพียงแต่คุณเตียงบอกว่าอย่าทำยับนะ อ่านเสร็จแล้วก็ให้มาคืน"
         คงไม่มีใครคาดคิดว่า เด็กหนุ่มผู้มีฐานะยากจนที่โชคดีได้รับความเอื้ออารีจาก เตียง จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลในครั้งนั้น วันหนึ่งเขาจะเติบโตเป็นนักถ่ายภาพผู้ยิ่งยง ได้รับรางวัลเกียรตินิยมสูงสุดมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซ้ำยังเคยมีโอกาสได้ไปแสดงงานภาพถ่ายของตนเองที่ประเทศเดนมาร์ก ฮ่องกง อีกทั้งในปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ ก็ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่ายศิลปะ) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
         "ผมถือคติว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว เพราะฉะนั้นชีวิตจึงต้องมีความอดทน มีความขยันจากประสบการณ์การทำงานผมได้ความรู้ต่างๆมากมาย แต่ไม่ใช่ว่าพอได้แล้วก็ลืม ในชีวิตของการทำงานในห้องมืด ผมไม่เคยล้างฟิล์มของลูกค้าเสียเลย เพราะเราต้องทำด้วยความละเอียด ละเมียดละไม ใครล้างฟิล์มไม่เก่ง เข้าห้องมืดไม่มีเทคนิค ก็จะไม่ได้ภาพที่สวย
         และการถ่ายภาพให้สวย ผมคิดว่า ประการแรก ต้องมีจินตนาการ ประการที่ ๒ ภาพที่สวยต้องได้อารมณ์ ได้สมดุลของภาพ ประการที่ ๓ ภาพนั้นต้องแสดงความรู้สึกให้ผู้เห็นภาพดูแล้วเกิดความเศร้าใจ ดีใจ หรือสุขใจ ปัจจัยเหล่านี้สำคัญ เพราะภาพขาวดำมีเพียง ๓ สี คือ สีขาว สีดำ สีเทา เพราะฉะนั้น เราจึงต้องช่วยแต่งภาพให้ลูกค้าด้วย เพื่อให้ภาพนั้นมีความรู้สึกมากขึ้น
          ความจริงผมชอบภาพขาวดำมากกว่าภาพสีนะ แต่ตอนหลังลูกๆหลานๆบอกว่าผมเชย" (หัวเราะ)
         ครั้งหนึ่ง เมื่อผลงานภาพถ่ายของ จิตต์ จงมั่นคง เริ่มเป็นที่ยอมรับ และตัวเขาเองก็มีชื่อเสียงด้านการถ่ายภาพนิ่ง ทำให้ได้รับงานถ่ายภาพโฆษณาของโฟล์คสวาเกน ซึ่งผลงานที่ออกมาเป็นที่ฮือฮามากในสมัยนั้น
        "หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ กับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต ซึ่งเป็นพี่น้องกัน ท่านเปิดร้านขายรถโฟล์ค บังเอิญโชคดีท่านบอกผมว่าปีนี้ทำปฏิทินนะ ช่วยถ่ายรูปให้ด้วย ผมตระเวนถ่ายรูปทั่วประเทศเลย ออกไปถึงเขมร ลาว รู้สึกว่าทำงานแบบนี้ก็สนุกดี ตอนนั้นซื้อกล้องตัวใหม่ด้วย เลนส์ก็แพง ขาตั้งกล้องก็แพง เพราะขาตั้งธรรมดาที่เคยใช้ ใช้ไม่ได้ มันหนักมาก
         ผมคิดว่างานถ่ายภาพคืองานศิลปะ สิ่งสำคัญต้องมีจินตนาการ ภาพต้องมีอารมณ์ ดูแล้วให้ความรู้สึก และภาพต้องมีน้ำหนักของแสง คนถ่ายภาพก็ต้องรู้จักมองโลกในแง่ดี เพื่อให้ผลงานนั้นออกมาดีที่สุด
         ความจริงงานถ่ายภาพ สนุกก็สนุก เหนื่อยก็เหนื่อย สนุกตรงที่หามุมถ่าย ไม่ใช่จะถ่ายมุมไหนก็ได้ เราต้องหามุมให้เจอ
          งานเขียนภาพกับงานถ่ายภาพนี่ความยากง่ายต่างกันนะ อย่างการเขียนภาพ ถ้าไม่ชอบใจก็ลบทิ้ง วาดใหม่ได้ แต่งานถ่ายรูป เป็นวิทยาศาสตร์ ต้องใช้เทคโนโลยี และต้องอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติ ถ้าแสงเงาไม่ดี รูปนั้นก็จะออกมาไม่สวย"
          ตลอดชีวิตการทำงาน ศิลปินอาวุโสยอมรับว่าเขาได้ค้นพบปรัชญาที่ดี และงานถ่ายภาพมีความหมายต่อชีวิตมาก
         "ทำให้ชีวิตของผมมีความรุ่งเรือง รู้จักมองโลกในแง่ดี ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าเรามองโลกแต่ในด้านร้าย ชีวิตก็คงอับจน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรัชญาชีวิตของคนถ่ายภาพ คือต้องมีความขยัน มีความอดทน อดทนนี่สำคัญที่สุด อดทนที่จะรอเวลาให้เราได้ถ่ายภาพที่ดีที่สุด ใจต้องเย็นด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะไม่ได้ภาพที่ดี ไม่เหมือนสมัยนี้ ส่วนใหญ่ใช้กล้องดิจิทัล ภาพไม่ดีก็กดลบทิ้ง ถ่ายใหม่ได้ แต่สมัยก่อนต้องใช้ฟิล์ม ซึ่งค่าฟิล์มแพงมาก ถ้าถ่ายออกมาแล้วรูปไม่ดี ก็เปลืองฟิล์ม
         เทคนิคต่างๆในการถ่ายภาพ ผมเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตัวเอง แล้วต้องดิ้นได้ ไม่ใช่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง ต้องหามุมถ่ายภาพเป็น น้ำยาในการล้างรูปก็สำคัญ เพราะสามารถเปลี่ยนอารมณ์ของภาพได้ เราต้องเรียนรู้ให้หมดว่าน้ำยาแต่ละตัวทำหน้าที่อะไร ถึงจะได้ภาพที่เราต้องการ"
         ด้วยความมุ่งมั่นอุตสาหะและมีฉันทะต่องาน จิตต์ จงมั่นคง ถึงกับออกปากในวันนี้ว่า เกียรติประวัติสูงสุดสำหรับชีวิตของนักถ่ายภาพธรรมดาๆคนหนึ่งเช่นเขา ก็คือรางวัลภาพชนะเลิศพระราชทานจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
        "รางวัลนี้ทำให้นักถ่ายภาพอย่างผมรู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุด ผมได้รับรางวัลชนะเลิศพระราชทาน จากภาพถ่ายชื่อว่า 'เมื่อพายุโหม' ซึ่งเป็นภาพที่ผมส่งเข้าประกวด และต้องแข่งขันกับบรรดานักถ่ายภาพนานาชาติ ปีนั้น ผมจำได้ว่ามีคนส่งภาพเข้าประกวด ๔,๐๐๐ กว่าภาพ ภาพของผมได้รับรางวัลชนะเลิศ รู้สึกภูมิใจที่สุดในชีวิต
         และเมื่อได้รางวัลแห่งความภาคภูมินั้นมาแล้ว เราต้องรักษาให้ดีที่สุด ไม่ควรหลงระเริง"
          นั่นเป็นคำกล่าวช่วงสุดท้ายของการสัมภาษณ์ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่ายศิลปะ)...จิตต์ จงมั่นคง...
          บางครั้งชีวิตของคนคนหนึ่งซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกินครึ่งศตวรรษ ย่อมมีอะไรให้ค้นหาเรียนรู้มากมาย มีใครบางคนเคยกล่าวว่าการเรียนรู้ชีวิต ก็เหมือนกับการเรียนลัด เพราะประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าก่อนที่เคยผ่านทั้งความถูกความผิดมาแล้วอาจจะ เป็นแบบเรียนให้คนรุ่นต่อๆมาได้ศึกษาเรียนรู้โดยที่มิต้องเอาชีวิตไปทดลอง ให้เสียเวลา แต่นำบทเรียนเหล่านั้นมาต่อยอดให้เกิดคุณค่ามากยิ่งขึ้นต่อไป


--------------------------------------------------------------

นายจิตต์ จงมั่นคง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่ายศิลปะ) ปี 2538 ได้ถึงแก่กรรมแล้ว ด้วยโรคหัวใจและปอดติดเชื้อ เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 7 เมษายน ที่โรงพยาบาลศิริราช รวมอายุได้ 87 ปี โดยทางญาติจะนำศพนายจิตต์ไปไว้ที่วัดธาตุทอง กำหนดสวดอภิธรรมศพ ตั้งแต่วันที่ 8-10 เม.ย. ณ ศาลา 3 วัดธาตุทอง เวลา 19.00 น. และพระราชทานเพลิงศพ วันที่ 11 เม.ย. เวลา 19.00 น.

18 ความคิดเห็น:

  1. บทความจาก www.sakulthai.com ฮะ

    ตอบลบ
  2. ม้าน้อย ขอบคุณมากที่เอาบทความดีๆมาให้อ่าน

    ตอบลบ
  3. คิดถึง อ.จิตต์ จงมั่นคง

    อ. สอนว่า ๗๐.....๓๐ ขาวดำ

    เห็นแล้วถ่าย ๓๐

    อยู่ในห้องมืด ๗๐

    =ขอบพระคุณครับ=

    ตอบลบ
  4. เสียดายที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครใช้ห้องมืดกันแล้วสิคะ

    ตอบลบ
  5. บางคนทรงคุณค่าเสมอ ไม่ว่าจะเมื่อไหร่

    ตอบลบ
  6. ชอบผลงานของ อ.จิตต์ จงมั่นคง มาก ยิ่งอ่านวิธีคิด วิธีใช้ชีวิตของท่านแล้วยิ่งเคารพนับถือ

    เสียใจจังที่ไม่ได้ทำสารคดีชีวิตของท่านก่อนท่านเสียชีวิต เขียน proposal ไว้แล้วแท้ๆ

    ตอบลบ
  7. ระลึกถึงด้วยจิตคารวะ....

    ตอนนี้เราได้แต่ล้างฟิล์ม(ขาว-ดำ) ยังไม่มีห้องมืดอัดรูป
    แต่อยากมีจังเลยอ่ะ

    ตอบลบ
  8. เป็นตัวอย่างที่ดีมากครับ ขอให้ท่านจงไปสู่สุขคติ

    ตอบลบ
  9. อุ้ย หรอ หรอ
    (นึกถึงฉากหนังชัตเตอร์ขึ้นมาเรย)

    ตอบลบ
  10. ตรงนี้ก็ชอบ

    อยากถ่ายภาพให้ได้ดี ต้องรู้จักมองโลกในแง่ดี

    ตอบลบ
  11. น่าอิจฉาพี่แอนจัง ปิ๋มคิดถึงชีวิตในห้องมืดมาก คิดถึงความรู้สึกตอนลุ้นว่าภาพที่เบิร์นออกมา มันได้อย่างใจนึกรึเปล่า

    ตอบลบ
  12. แปลกนะ ผมเพิ่งเจอหนังสือรวมภาพถ่ายของคุณจิตต์ จงมั่นคง ที่เคยเป็นความฝันสมัยเด็กๆในตู้เก็บของที่บ้านต่างจังหวัดเมื่อเช้านี้เอง ยังเปิดมาดูแล้วนึกถึงอยู่เลย พอตอนบ่ายก็เพิ่งมาเจอข่าวในนี้ว่าเสียชีวิตเสียแล้ว

    ตอบลบ
  13. อ่านบทความนี้แล้วประทับใจมาก คนสมัยก่อนอดทนกันจริง ๆ กว่าจะทำอะไรออกมาได้สำเร็จ

    ตอบลบ
  14. อยากดูรูปมั่งจังคุณ

    ตอบลบ
  15. เห็นด้วยฮะ
    คนสมัยนี้แทบไม่ต้องอดทนอะไร
    จะไปไหนก็มีรถไฟฟ้า กระทั่งกินมาม่ายังรอไม่ถึงสามนาทีเลย

    ตอบลบ