Rating: | ★★★ |
Category: | Books |
Genre: | Literature & Fiction |
Author: | อาคากะวา จิโร แปลโดยฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์ |
Futari "พี่น้องสองมิติ" เป็นเรื่องเล่าของพี่สาวกับน้องสาว หลังอุบัติเหตุร้ายแรงพรากผู้เป็นพี่ไป ครอบครัวที่เหลือกัน 3 ชีวิตจึงสั่นคลอนราวกับโดนคลื่นสึนามิโหมใส่ แต่แล้ววันหนึ่งพี่ก็กลับมาหาน้อง กลับมาอยู่ใกล้ๆ ในแบบมองไม่เห็นตัว แต่ได้ยินเสียง คอยพูดคุย ไต่ถาม ห้ามปรามและให้คำแนะนำ เมื่อน้องเรียกหา
มีพี่อยู่ข้างๆ น้องก็ค่อยๆ ดีขึ้น ด้วยไม่ได้รู้สึกว่าพี่จากไปไหน พี่สบายดี ไม่ได้เจ็บปวด ไม่ทรมาน ไม่ได้ถูกกักขังหรือหิวโหย ประกอบกับที่น้องยังเด็ก ยังใส จึงค่อยๆ ฟื้นตัวจากความเจ็บปวดได้อย่างรวดเร็ว อาการที่ดีขึ้น ส่งผลให้พ่อกับแม่รู้สึกดีขึ้นด้วย
น้องกำลังเติบโต อยู่ในระยะที่เหมือนดักแด้กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นผีเสื้อแสนสวย เวลาเช่นนี้มีหลายเรื่องราวเกิดขึ้น รวมทั้งปัญหาที่แสนทรมานใจของผู้ใหญ่ แต่การที่น้องมีพี่อยู่เคียงข้างตลอดเวลาทำให้สามารถผ่านช่วงยากลำบากไปได้อย่างอุ่นใจ และไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
จนเมื่อถึงวันหนึ่ง เมื่อเธอไม่ต้องการพี่แล้ว ผู้เป็นพี่ก็หายไปเฉยๆ
อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วทำให้ฉันรู้สึกอยากมีพี่สาวอีกครั้ง
การมีน้องชายสองคนในวัยห่างกัน 3 และ 5 ปี ไม่ได้ช่วยให้พี่สาวคนโตอย่างฉันรู้สึกอบอุ่น ก็น้องๆ เอาแต่เด็กกว่า โง่กว่า งอแง อ่อนแอ และเป็นภาระ(ที่พ่อแม่สั่ง)ให้ต้องดูแล น่าเบื่อที่สุด
ความน่าเบื่อของน้องผลักดันให้ฉันหันไปหลงใหลบุคลิกผู้นำ เก่งกล้าสามารถ ฉะฉาน และเอาแต่ใจ (ประสาลูกคนโต) ของพี่สาวลูกพี่ลูกน้อง (ปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว) อยากได้เธอมาเป็นพี่สาวของฉันจริงๆ (แม้เธอจะแกล้งฉันอยู่เสมอ) แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เราอยู่กันคนละจังหวัด เมื่อเธอมาอยู่บ้านฉันเพื่อที่จะมาเรียนหนังสือ วัยก็พาเธอพลัดไปเป็นสาวรุ่น ทิ้งห่างฉันซึ่งยังเป็นเด็กกะโปโลที่เธอน่าจะคิดเหมือนที่ฉันคิดกับน้อง ว่า “น้อง-น่า-รำ-คาญ”
ตอนยังเด็กฉันจึงรู้สึกเหงาๆ พิกล (ทั้งที่น้องๆ รอบตัวออกจะทำอึกทึกวุ่นวาย)
คงจะดี ถ้าเด็กๆ ได้เติบโตขึ้นมาพร้อมกันแบบมีพี่ มีน้อง หรืออย่างน้อย ก็ไม่ได้เติบโตมาโดยรู้สึกโดดเดี่ยว (ทั้งที่แทบไม่มีโอกาสจะอยู่คนเดียวเลย) อย่างฉัน
บันทึก:
• คำว่า Futari แปลตรงตัวว่า สองคน-เป็นคำลักษณะนามที่ใช้เรียกจำเพาะกับคนสองคน
• นิยายขนาดเหมาะมือ พล็อตไม่ซับซ้อน สำนวนอ่านง่าย เพราะเขียนมาให้เด็กมัธยมอ่าน
• คนเขียนหนังสือเล่มนี้คืออาคากะวา จิโร คนเดียวกับที่เขียน “มิเกะเนะโกะ โฮล์มส์ แมวสามสียอดนักสืบ” และ “ซันชิไม ทันเทอิดัน” จากวิธีการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะจากการที่เขาเป็นผู้ชาย ฉันว่าเขาเป็นนักเขียนที่ช่างสังเกตและเก่ง สมแล้วเขียนอะไรๆ ได้หลายแนว แล้วก็เป็นนักเขียนที่เขียนอะไรๆ ออกมาได้พรั่งพรู ไม่มีติดขัดเลย
• น่าสนใจนะ ว่านักเขียนแบบนี้ได้แรงบันดาลใจจากอะไรบ้าง
• บอกไว้เป็นเกร็ดสนุกๆ ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์ ผู้แปลสาวเจ้าของสำนวนแปลนี้ เป็นแฟนของตั้ม วิศุทธิ์ พรนิมิต นั่นเอง
• เข้าใจว่าที่มาของหนังสือเล่มนี้คือเอจัง เอจังให้ยืมหลังจากที่ฉันอ่าน “หญิงสาวผู้หวาดกลัวความสุข” ของโยชิโมโต บานานา ที่ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์ แปล เมื่อสัก 2 ปีก่อน แล้วเกิดกรี๊ดกร๊าดเอามากมาย
น้องมันไม่ได้น่ารำคาญหรอก
ตอบลบแต่น้องมันคิดไม่ทันเราตอนที่เราเล่นตะหาก
เลยทำให้เล่นไม่สนุก
จะเรียก "เล่นไม่เข้าขากัน" ก็ได้
แต่เรื่องพ่อแม่สั่งให้ต้องดูแล น่าเบื่อที่สุด เนี่ย เห็นด้วยอย่างยิ่ง (แต่โชคดีที่มีไม่บ่อยนัก)
...
มาถึงโมเมนท์นี้แล้ว
ตอบลบบางทีก็อยากกลับไปสนิทกับน้องเใหม่เหมือนกัน