วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551

ถ้าจะไป ก็ไปด้วยกันนะ

 

งานอาสาสมัคร
โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ

 

ความเป็นมา

                   งานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็นดำเนินมาพร้อมกับงานการศึกษาของผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น เมื่อปี พ.ศ. 2482 มิสเยเนวีฟ คอลฟิลด์ สุภาสตรีตาพิการ ชาวอเมริกัน จากประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านมาประเทศไทยด้วยกุศลเจตนาอย่างแน่วแน่ในการให้การศึกษาแก่คนตาบอด ด้วยไม่สนใจต่อคำพูดที่ว่าคนตาบอด น่าสงสาร ทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ ไม่มีประโยชน์ต่อใคร ท่านได้พิสูจน์แล้วว่าคนตาบอดมีความสามารถ จึงมุ่งมั่นที่จะให้การศึกษาคนตาบอดอย่างเต็มที่ ฝ่าฟันอุปสรรคหลายๆ อย่างเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย อย่างไรก็ดีในการทำงานของท่าน ยังมีผู้มีน้ำใจประเสริฐ มีเมตตากรุณาเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญในการให้การศึกษาแก่คนตาบอด พร้อมที่จะเสียสละความสุขส่วนตัวมาร่วมทำกิจกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนๆ ของมิสคอลฟิลด์ งานอาสาสมัครจึงเริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการ จนท่านเหล่านั้นได้ช่วยกันจัดตั้งเป็นมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ ได้สำเร็จ งานอาสาสมัครยังคงมีต่อมาเรื่อยๆ เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษา และงานช่วยเหลือคนตาบอดให้กว้างขึ้น
                   ในระยะเวลาที่ผ่านมางานอาสาสมัครยังไม่เป็นทางการ ส่วนใหญ่จะเป็นการเชื้อเชิญระหว่างผู้ที่มาเป็นอาสาสมัครด้วยกัน คุณครูวิมล อ่องอัมพร และ Mr. Renn Fuller เป็นบุคคลที่มีความพยายามให้มีโครงการนี้เกิดขึ้น ปัจจุบันทางโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ได้จัดตั้งโครงการอาสาสมัครอย่างเป็นทางการ โดยมีคุณวรลักษณ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นประธานโครงการฯ นอกจากนั้นยังเริ่มมีการให้ความรู้เบื้องต้นแก่อาสาสมัครที่มาช่วยงานให้เข้าใจผู้ที่บกพร่องทางการเห็นมากขึ้น นอกจากนั้นทางโครงการได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เบื้องต้นแก่อาสาสมัครที่มีความสนใจในการช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นในส่วนของการศึกษาและด้านอื่นๆ มากขึ้น นับได้ว่าเป็นการเปิดโลกกว้างที่ไม่มีช่องว่างระหว่างคนปกติและผู้ที่ บกพร่องทางการเห็นที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
                   ในปัจจุบันงานอาสาสมัครยังมีส่วนช่วยให้นักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นซึ่งออกไปเรียนร่วมกับ
นักเรียนในโรงเรียนปกติด้วยการสอนเสริม ให้ความรู้เพิ่มเติมแก่นักเรียน นอกจากนั้นยังมีสอนให้นักเรียนเข้าใจชีวิต การปรับตัวเอง ในการที่จะพัฒนานักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นได้มีชีวิตอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมอย่างมีความสุข
                   ในการจัดการศึกษาให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นเพื่อให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้สามารถค้นหาจากห้องสมุดหรือได้รับการแนะนำจากผู้ที่ให้การสนับสนุน งานอาสาสมัครจึงมุ่งเน้นในการนำผู้ที่สนับสนุนการศึกษาของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นมาช่วยทำประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมมากที่สุด งานอาสาสมัครจะช่วยให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นได้เรียนรู้และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมปกติ และยังช่วยให้อาสาสมัครได้รู้วิธีการให้การช่วยเหลือบุคคลที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นได้อย่างถูกต้อง

                   อาสาสมัครนับว่าเป็นบุคคลที่มีความเสียสละอุทิศเวลาและให้การสนับสนุนในด้านการศึกษาและอื่นๆ ของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น การรวบรวมข้อมูล การเสนอแนะวิธีการ ที่จะช่วยงาน รวมทั้งขอบข่ายของงานอาสาสมัคร การติดตามการทำงานของอาสาสมัคร ตลอดจนการประกาศเกียรติคุณของอาสาสมัคร เพื่อให้อาสาสมัครมีกำลังใจที่จะช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นต่อไป

คุณสมบัติของอาสาสมัคร

1.       ไม่จำกัดเพศ และอายุ

2.       มีจิตใจช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการเห็น

ประเภทของอาสาสมัคร

1.       บุคคลทั่วไป

2.       นักเรียน นักศึกษา

3.       อาสาสมัครที่ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

ลักษณะงานของอาสาสมัคร

1.

อ่านหนังสือลงเทป (Talking Book)

2.

การพิมพ์หนังสือลงแผ่นดิสก์เพื่อแปลเป็นอักษรเบรลล์และจัดทำหนังสือตัวโตสำหรับเด็กสายตาเลือนลาง
( Low Vision)

3.

สนับสนุนในกิจกรรมของนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็น ได้แก่

 

3.1

กิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก

 

 

  • ดูแลเด็ก พาเด็กเดินเล่น
  • อ่านนิทานให้เด็กฟัง
  • สอนดนตรี
  • ช่วยฝึกกิจกรรมส่วนตัว (การดำรงชีวิตประจำวัน)
  • ช่วยแนะนำฟื้นฟูบุคลิกภาพของเด็ก

 

3.2

กิจกรรมสำหรับนักเรียนประถมปีที่ 1-6 (อายุ 8-15 ปี)

 

 

  • กิจกรรมทางวิชาการ
  • กิจกรรมทางภาษา
  • กิจกรรมพิเศษ เช่น ดนตรี ว่ายน้ำ ศิลปะ และอื่นๆ
  • กิจกรรมนอกสถานที่

 

3.3

กิจกรรมสำหรับนักเรียนร่วมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3

 

 

  • ช่วยสอนการบ้านช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 15.30-19.00
  • อ่านหนังสือให้เด็กฟังในวันหยุดราชการ
  • กิจกรรมทางวิชาการ เช่น การสอนเสริมวิชาต่างๆ
  • กิจกรรมทางภาษา
  • กิจกรรมพิเศษ เช่น ดนตรี ว่ายน้ำ ศิลปะ
  • กิจกรรมนอกสถานที่
  • กิจกรรมพัฒนาทางสังคม และพัฒนาบุคลิกภาพ เป็นต้น
  • อื่นๆ

 

4.

การจัดหาทุนสนับสนุนเพิ่มเติมในเรื่องการศึกษา อุปกรณ์ และความเป็นอยู่ของนักเรียน

 

5.

กิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองให้ความรู้ในการดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นที่บ้าน 

 

นางสาวอาทิตา รอดสมนา ผู้ประสานงานอาสาสมัคร

เลขที่ 420 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400
โทร. 022-460-070 , 022-461-431 , 022-481-365-8 ต่อ 108
โทรสาร. 022-481-369

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.blind.or.th/school/volunteer.htm

 

 

18 ความคิดเห็น:

  1. ดีครับ ... อยากลองอ่านหนังสือบันทึกเสียง เขาจำกัดประเภทหนังสือ หรือคัดเลือกหนังสืออย่างไรครับ

    ตอบลบ
  2. กับโรงเรียนสอนคนตาบอดถนนราชวิถีนี่ ที่จริงยังไม่เคยติดต่อไปนะคะพี่ แต่ว่าหนูเคยไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ห้องสมุดคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอดแห่งประเทศไทย ถนนติวานนท์ใกล้ 5 แยกปากเกร็ด (โทร. 0 2583 6518) ที่นั่นถ้าไม่มีอุปกรณ์บันทึกเสียงที่บ้าน (ควรจะดีๆ หน่อย น้องที่ยืมเทปไปฟังเค้าจะได้ไม่เศร้าจิต) ก็จะต้องไปใช้ห้องบันทึกเสียงที่ห้องสมุด ซึ่งหมายความว่า เราต้องไปในวันจันทร์-ศุกร์ ซึ่ง... คนทำงานประจำอย่างเราจะทำได้ลำบากค่ะพี่ (ยกเว้นเด็กนักเรียนที่ปิดเทอม หรือผู้ใหญ่ที่เกษียณแล้ว)

    ในกรณีพี่ดรีม หนูว่าพี่คงจะพร้อมเรื่องการอัดเสียงที่บ้าน ก็มาดูถึงกรณีหนังสือที่จะเลือกอ่าน เราก็แค่โทรไปถามห้องสมุดว่า เรื่องนี้โอเคไหม มีใครอ่านไว้แล้วหรือยัง เพราะว่าถ้ามีคนอ่านแล้ว เราก็น่าจะอ่านเรื่องใหม่ดีกว่า น้องๆ จะได้มีเทปฟังหลายๆ เรื่อง ยกเว้นกรณีหนังสือที่ใครๆ ก็เข้าคิวรอฟัง อย่างเช่น แฮรี่ฯ อันนี่ถ้าอยากอ่านอีก ก็น่าจะอ่านได้ น้องเค้าจะได้ไม่ต้องเข้าคิวรอนาน

    พี่ดรีมสามารถเสนอหนังสือได้ทุกเล่ม ทุกแนว ทั้งเพิ่งออกใหม่ๆ และพิมพ์เมื่อนานมาแล้ว และไม่ได้พิมพ์ใหม่เพิ่ม เพราะจริงๆ คนตาบอดเค้าก็กระหายอยากอ่านหนังสือทุกแนวเหมือนเรานี่แหละ ถ้าอ่านนิตยสารทัน เค้าก็คงจะขอยืมไปฟังละคะ

    สมัยที่หนูไปสัมภาษณ์นั่น ห้องสมุดยังใช้เทปคาสเซ็ตเป็นวัสดุหลัก ดังนั้น ถ้าเกิดว่าพี่ดรีมอยากอ่านหนังสือลงเทปสักเล่ม แล้วพี่ดรีมจะบริจาคเทปด้วย ก็จะเป็นคุณูปการกับห้องสมุด และคนตาบอดเป็นอย่างยิ่ง

    แต่ถ้าพี่ดรีมไม่มีเวลา จะบริจาคแค่เทปก็ได้เหมือนกัน หรือจะบริจาคกระดาษใช้แล้ว สำหรับให้เจ้าหน้าที่ไปใช้พิมพ์เป็นอักษรเบรลล์ก็ได้ หรือถ้าไม่มีของ อยากให้เป็นเงินผ่านมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ก็ได้อีก
    (บัญชี: มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาสีลม 022-1-33700-8)
    มูลนิธิเมื่อได้เงินแล้วก็จะจัดสรรให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่คอยดูแลคนตาบอดอยู่ รวมทั้งห้องสมุดคอลฟิลด์ โรงเรียนสอนคนตาบอด ศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอด ด้วย

    ไม่แน่ใจนักว่าสมัยนี้ ห้องสมุดเค้าได้พัฒนาสื่อให้กลายเป็นแผ่นซีดี (MP3) บ้างแล้วหรือยัง เพราะว่าสื่อใหม่นี่มันไม่เปลืองที่เก็บ อีกอย่างเครื่องเล่นคาสเซ้ตเทปก็ชักจะหายากขึ้นทุกทีๆ แล้วสิ

    อย่างไรก็ตาม ถ้าพี่ดรีมอยากจะอ่านหนังสือลงเทปให้กับห้องสมุดคอลฟิลด์ น่าจะโทรไปถามรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่อีกที เพราะข้อมูลที่หนูบอกมานี่ มันก็ตั้งแต่ปี 2004 แล้วซีคะ เบอร์โทรคือ 0 2583 6518 ค่ะ

    จะเห็นได้ว่าการอาสาอ่านหนังสือลงเทปให้ห้องสมุดคอลฟิลด์ดูมีข้อจำกัดเยอะ แต่กับโรงเรียนสอนคนตาบอดฯ จะมีกิจกรรมรอพวกเราไปอาสามากมาย เป็นกิจกรรมที่ทำได้โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ ไม่ต้องใช้สตางค์ แค่มีเวลากับมีใจเท่านั้น

    อยากไปค่ะ
    เป็นโสดนี่ มีเวลาเสาร์-อาทิตย์เหลือเฟือเลยนะ
    (ขอบคุณนะคะพี่ ทีสนใจ)

    ตอบลบ
  3. ข้อมูลแน่นปึ๊ก
    ว่าแต่ เวลาอ่านเนี่ย เราอ่านธรรมดา หรือว่าต้องทำเสียงให้เข้ากับเนื้อหาด้วย

    ตอบลบ
  4. ที่จริงก็สนใจมานานละครับ แต่ไม่ได้เริ่มสักที ... เคยมีคนชวนให้ไปสอนหนังสือช่วงเย็นๆ ก็ไม่มีเวลาไป ... คิดว่าถ้าเป็นอ่านหนังสือ น่าจะพอทำได้ครับ ... เครื่องมือที่บ้านก็พอมี ... อ่านหนังสือ (ภาษาไทย) ก็พอออก

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ

    ตอบลบ
  5. เท่าที่เคยฟังนะ
    คิดว่าเทปที่อ่านแบบครูแอนเล่านิทานเช้าๆ เสาร์-อาทิตย์ในไทยพีบีเอสจะน่าฟังกว่า
    โดยเฉพาะถ้าเป็นหนังสือเด็ก

    เอ็งคิดดูดิ ถ้าเอ็งอย่างบึงหญ้าป่าใหญ่ด้วยเสียงธรรมดาๆ แบนๆ แบบรายงานข่าวเด็กจะเห็นภาพเหมือนตอนเราอ่านเองได้ไง
    (นึกถึงละครวิทยุเข้าไว้สิ)

    แต่ถ้าเป็นเรื่องราวที่เป็น fact เป็นทางการ ก็น่าจะอ่านด้วยน้ำเสียงที่ไม่มีความเห็นจะดีกว่า

    ข้าว่าการอ่านหนังสือลงเทปเป็นงานอดิเรกอาสาที่ได้ฝึกความอดทน เสริมสร้างเส้นใยสมองทางความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาและจินตนาการ
    แถมยังเป็นการอ่านที่ "เป็นชิ้นเป็นอัน" ซะด้วย

    ใครยังอ่านหนังสือไม่แตกซะทีก็น่าจะลองทำดู

    ตอบลบ
  6. ผมเห็นที่ B2S central world มีเป็นห้องอัดให้อ่านอะเจ้ แต่เห็นเค้าว่ากันว่าต้องจองคิวกันเป็นเดือน

    ตอบลบ
  7. เออ นั่นแหละ
    จะไปอัดที่ห้องสมุดคอลฟิลด์ก็ลำบาก ไม่ว่างวันธรรมดา
    เจ้เลยลองมาอัดที่บ้าน แบบว่ามีคาสเซ็ตเทปที่ใช้อัดเวลาไปสัมภาษณ์ชาวบ้านก็กะจะใช้อันนี้แหละ
    ปรากฏว่าเสียงเห่ยไม่พอ
    เสียงหมาแมว เด็กเจี๊ยวจ๊าว เสียงรถเร่ขายของเข้าไปเพียบเลย
    สงสารคนที่ยืมเทปไปฟัง
    สรุปคือยังไม่ได้ทำซะที

    ตอนนั้นน่ะ โปรเจคบรรเจิดมาก กะอ่านเรื่อง "แผ่นดินของเรา" ของแซงเต็กซูเปรี (คนเขียนเจ้าชายน้อย) ซะด้วย
    ผ่านมา 4 ปี ยังไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเลยเนี่ย......-_-

    ตอบลบ
  8. น้องๆ พวกนี้เค้าจะจินตนาการบรรเจิดกว่าพวกเรานะเจ้ เพื่อทดแทนประสาทสัมผัสที่เค้าสูญเสียไป
    sound effect ต่างๆ ที่เจ้ใส่เข้าไป อาจทำให้น้องๆ เค้าคิดไปถึง wonder never ever over.... land เทือกๆ นั้นเลย
    เปลี่ยนบรรยากาศให้น้องเค้างัย ดีออก

    เกรงว่าถ้าอ่านเรื่อง แผ่นดินของเรา ผู้ฟังเค้าจะหลับไหมอะ เปนนิยายประโลมโลกน่าจะพอไหวนะ

    ตอบลบ
  9. อืมอืม
    งั้นน่าจะลองอ่าน จันดารา ดู
    (ฮิ)

    ตอบลบ
  10. แผ่นดินของเรา ยังพอนึกเสียงออกว่าจะอ่านยังไง
    แต่ บึงหญ้าป่าใหญ่ นี่ดิ ถ้าต้องมีเสียงเล็กเสียงน้อย คงต้องฝึกกันพอดู

    ตอบลบ
  11. จะเล่าที ต้องใส่อารมณ์ด้วย
    นี่ถ้าเราจะเล่า นิทานเรื่อง star war เนี่ย จะเวิร์คมั๊ย
    แวว เวา แฟรบ (เสียง กระบี่ เลเซอร์)
    ฟืด... ฟาด... อาร์... ลุค ข้าคือพ่อของเจ้า เจ้าชนะข้าไม่ได้หรอก
    ที่เชียงใหม่ ก็มีโรงเรียนสอนคนตาบอด เคยไปเลี้ยงอาหารกลางวันน้องๆทีนึง
    ตอนเรียน กสน.น่ะ นานมากละ (ที่เคยเป็นคนดี 555)

    ตอบลบ
  12. เป็นโปรเจคที่สนใจมานาน แต่ว่าไม่ได้ทำซักที

    ตอบลบ
  13. ว่าแต่....
    น่าอัดตอนอ่านนิทานให้ลูกฟังเนอะ
    คืนละ 2 เรื่อง
    เดือนนึงก็ 60 เรื่อง
    ปีนึงก็ 720 เรื่อง
    บางคืนมีแถมอีก
    แต่มันควรเข้าห้องอัดเนอะ

    ตอบลบ
  14. ถ้าอ่านในห้องอัด เสียงมันชัดไฮโซแบบเอฟเอ็มจิงๆ นะพี่
    เคยฟัง

    ถ้าพี่แอนอ่านนิทานใส่เท้ป ให้มีสัก 5 เรื่องในม้วนเดียว
    เด็กคงยิ้มนะพี่

    แต่ถ้าช่วยอ่านหนังสือไม่สะดวกก็ช่วยอย่างอื่นได้จ้ะพี่

    ตอบลบ
  15. เหมือนพี่เลย น้องโน

    ตอบลบ
  16. เคยอ่านเป็นม้วนเทป นานแล้วนะครับ

    ตอบลบ