วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

คันปากอยากบอกต่อ ตอน โจน จันใด กับการปลดปล่อยตัวเองจากความเป็นทาส



คำเตือน: บล็อกนี้ซีเรียส!

 

ในเซกชั่น Change the World พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ของนิตยสารสารคดีฉบับ วิถีเปลี่ยนโลกด้วยมือเรา ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๑ มีบทสัมภาษณ์ผู้คนที่มีความคิดและวัตรปฏิบัติในอันจะช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนจำนวนหนึ่ง

 

ในบรรดานั้นมีทั้งนักวิชาการผู้มีการศึกษาสูง เคยใช้ชีวิตในประเทศที่เจริญแล้วอย่าง ดร. สิงห์ อินทรชูโต (OSISU, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัย และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นักสื่อสารมวลชนอดีตเอ็นจีโอ อย่าง ทรงกลด บางยี่ขัน (บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร a day) ผู้บริหารบรรษัทภิบาลอย่าง กานต์ กระกูลฮุน (กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย) ครอบครัวสังวรเวชภัณฑ์ ครอบครัวธรรมดาๆ ที่พ่อแม่จัดการศึกษาแบบโฮมสคูลให้ลูกชายทั้งสอง บรรจง ขยันกิจ อดีตช่างเทคนิคของมหาวิทยาลัยบูรพาผู้เชื่อมั่นในพลังงานลม ซึ่งลงทุนศึกษาการทำกังหันลม และเดินทางติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าในพื้นที่กันดารในละแวกประเทศอุษาคเนย์ ม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว และ ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ็น เอ็นจีโอโลกาภิวัตน์

 

ในบรรดาผู้คนที่มี ต้นทุนทางสังคมสูง ดังได้กล่าวมา ยังมีบทสัมภาษณ์ครอบครัวโอ่โดเชา ครอบครัวปกากะญอ ที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตที่มีความกตัญญูรู้คุณต่อป่า ต่อน้ำ กับอีกบทสัมภาษณ์ โจน จันใด ชาวนาธรรมดาๆ ที่มีการศึกษาน้อยรวมอยู่ด้วย

 

หากคุณได้อ่านความคิดอ่านของ โจน จันใด แล้ว คงพบว่า ชาติกำเนิด การศึกษา หรือต้นทุนทางสังคม หาใช่ปัจจัยที่จะทำให้คนคนหนึ่งรู้จักคิด แสวงหาแนวทางการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และยั่งยืน โดยเบียดเบียนโลกให้น้อยที่สุด

 

ที่สำคัญยังมิใช่เพียงการคิดได้ เขายังลงมือทำมันจริงๆ

ไม่เพียงเอาไว้พูดเก๋ๆ เวลามีคนเปิดประเด็นเรื่องโลกร้อน

 

อ่านแล้วอดไม่ไหว จึงขอคัดมาให้ได้อ่านกัน ณ ที่นี้

 

“ผมเคยอยู่กรุงเทพฯ ๗ ปี มาทำงานในร้านอาหารบ้าง เป็นพนักงานโรงแรมบ้าง เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยบ้าง ผมทำงานวันละ ๘-๑๒ ชั่วโมง แต่ปรากฏว่าไม่พอที่จะเลี้ยงชีวิตคนคนเดียว ผมก็เริ่มถามแล้วว่าเราทำไปทำไม ผมเริ่มเห็นว่าการใช้ชีวิตมันยุ่งยากซับซ้อนเกินไป และวิถีชีวิตอย่างนี้มันผิด ผมกลับไปลองใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ทำนาปีละ ๒ เดือน ผมสามารถผลิตข้าวได้ ๖ ตัน กินได้ทั้งครอบครัว ผมปลูกผักใช้เวลาแค่ ๓๐ นาทีต่อวัน ผมสามารถมีอาหารเลี้ยงคน ๖ คนได้สบาย ผมก็เริ่มคิดว่าชีวิตมันง่ายเหลือเกิน

 

“แล้วผมก็เริ่มคิดถึงปัจจัยสี่เป็นหลัก อาหาร บ้าน ผ้า และยา คนต้องพึ่งตัวเองได้ ถ้ามนุษย์ได้สี่อย่างนี้มาอย่างยากลำบาก แสดงว่าวิถีการพัฒนานั้นล้มเหลว ผมเริ่มเห็นว่าหลายๆ คนรู้สึกว่าการจะมีบ้านหลังหนึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยในชีวิตของเขา เพราะเขาจนเขาโง่เหลือเกิน บางคนอาจใช้เวลาถึงครึ่งหนึ่งของชีวิตเพื่อที่จะมีบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก พอมีโอกาสได้ไปเห็นบ้านดินของชาวอินเดียนแดง กลับมาก็ลองทำดู ทุกวันผมใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า ผ่านไป ๓ เดือน ผมได้บ้านหลังหนึ่ง แล้วเป็นบ้านที่รู้สึกมั่นคงแข็งแรงเท่ากับบ้านทั่วๆ ไป ที่สร้างแบบถูกที่สุด ทำให้ผมรู้สึกว่าบ้านไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว” (หน้า ๑๗๓)

 

“...ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีบ้านได้ ขอให้มีแรงทำเท่านั้นเอง แล้วเราจะรู้สึกว่าเรามีศักยภาพมากขึ้น หลายๆ คนที่ทำบ้านดินเขารู้สึกว่าชีวิตเขาเปลี่ยนไป ไม่ต้องพึ่งวิศวกรเขาก็ทำได้ ผู้หญิงที่มาร่วมทำบ้านดินทั้งหลังเขารู้สึกว่าเขามีอำนาจ รู้สึกภูมิใจในตัวเอง ผมจึงเห็นว่าบ้านดินเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาสู่ความเป็นมนุษย์ที่เต็ม” (หน้า ๑๗๔)

 

หลังจากช่วยคนไม่มีบ้านสร้างบ้านดิน โจนก็เริ่มทำฝันความฝันของเขาให้เป็นจริง มันคือการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านซึ่งมีความอดทนต่อโรค แมลง และสภาพดินฟ้าอากาศ เนื่องจากเขามองว่า การพัฒนาอาหารทำให้พันธุ์พืชที่เดิมเคยมีอยู่หลากหลายเริ่มลดจำนวนลง และหายไป เหลือแต่พันธุ์พืชที่ได้รับการตัดแต่งให้ให้ผลผลิตมาก แต่ไม่ทนโรคและแมลง การลงทุนปลูกจึงต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจำนวนมาก ทำให้ชาวไร่ชาวนาต้องตกเป็นทาสของบริษัทผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงโดยไม่รู้ตัว

 

และ โจนบอกเราว่า ทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยชะลอภาวะโลกร้อนได้ก็คือ ต้องปลดปล่อยตัวเองจากการเป็นทาส

 

ภาวะโลกร้อนคือตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาถึงจุดสูงสุดแล้วมันก็ทำลายตัวเอง มันอาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และหยุดยั้งไม่ได้ แต่ผมยังหวังว่ามันยังไม่สายเกินไปถ้าเราเริ่มกันตอนนี้ ผมมองไม่เห็นทางอื่นเลยที่จะชะลอภาวะโลกร้อนได้ นอกจากเราต้องปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากระบบทาส ทุกวันนี้เราตื่นขึ้นมาเราก็ส่งส่วยให้ยูนิลีเวอร์ทันที กินข้าว เราต้องส่งเงินให้ซีพี ขับรถ เราต้องส่งเงินให้บริษัทรถ บริษัทน้ำมัน รอบตัวเรามีนายทาสเต็มไปหมด มันเป็นระบบที่ใหญ่โตมาก แต่มันอยู่ได้เพราะมีคนส่งเสริมมัน ฉะนั้น การต่อสู้กับมันก็คือการต่อสู้กับตัวเอง


“คนคนหนึ่งกินได้ไม่เกิน ๓ มื้อ ใส่เสื้อผ้าได้ทีละตัว นอนได้แค่เตียงเล็กๆ จะมีบ้านใหญ่ขนาดไหนก็นอนมากกว่านั้นไม่ได้ แล้วทำไมเราต้องมีมันมากมาย ยิ่งมีมากยิ่งบริโภคมาก นั่นหมายความว่าเราทำลายมาก เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาเพื่อแสวงหากำไรไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งพัฒนามากเราก็ยิ่งทำลายตัวเองมาก ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีตหรือน้ำมัน กว่าจะได้มามันหมายถึงการทำลาย แล้วการทำลายของมนุษย์เหมือนกับขี่ช้างจับตั๊กแตน หรือฆ่าช้างทั้งตัวเพื่อเอางา ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงก็คือมนุษย์บริโภคเกินความจำเป็น ทำยังไงเราถึงจะทำลายน้อยที่สุดต่างหาก การทำลายน้อยที่สุดก็คือการลดการบริโภคของเราเท่านั้นเอง” (หน้า ๑๗๕)


19 ความคิดเห็น:

  1. เห็นด้วย มากๆ

    ถ้าทุกคนมุ่งให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสจริง ก็หลีกไม่พ้นที่ต้องพูดเรื่อง พลังงาน การจัดสรรทรัพยากร ความยากจน การดำเนินชีวิต..... เหมือนกับต้องยกเครื่องใหม่หมด

    ตอบลบ
  2. การกระทำของเธออาจไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่
    แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่เธอได้ลงมือทำมันแล้วต่างหาก

    มหาตมะ คานธี

    (หน้า ๒๑๒-๒๑๓ สารคดีเล่มเดียวกัน)

    ตอบลบ
  3. ขอบพระคุณมากครับ
    =ครูแหลม=

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณค่ะ
    เหนื่อยมาทั้งวัน กลับบ้านแล้วได้อ่านเรื่องดี ๆ พอให้มีความหวังที่จะ "เดินต่อ"

    ตอบลบ
  5. จะต้องไปซื้อสารคดีเล่มนี้ให้ได้ครับพี่้

    ตอบลบ
  6. ความคิดพี่เค้าเท่ห์จริง แต่ขอเห็นด้วยครึ่งหนึ่งละกัน...

    ตอบลบ
  7. ชีวิตในฝันอีกแบบ...แต่เราไม่รู้จะเริ่มยังไงอ่ะ...อยากมีบ้านที่ปลูกอะไรกินเองได้ทุกวัน..แต่ไม่ต้องฆ่าสัตว์เองน้า...เพราะเราถือศีล 5 แต่ทุกวันนี้เรายังเป็นคนนึงที่กินจุมากๆๆช่างกิน และบริโภคข้าวของเกินขนาด...

    เคยเจอคุณนฤมล พี่นก...พี่นกบอกว่าตอนนี้ปริมาณเสื้อผ้าที่ผลิตมามีพอใช้ไปอีก 50 ปี....เลยนึกถึงนายเก่าเราที่มีห้องเก็บรองเท้า 300 คู่ที่บ้าน มีห้องเก็บเสื้อยาวเป็นหลายๆๆเมตร...แล้วมองคนที่ไม่มีเสื้อผ้าใส่..มันต่างกันจังเลยเนอะ...

    อยากกินให้น้อยลงอ่ะ...แล้วถ้ามีที่ดินต่างจังหวัดจะไปเอาต้นไม้มาลงเยอะๆเลย....ตอนนี้บ้านที่อยู่มีที่นิดหน่อยแต่ก็ปลูกต้นไม้แน่นพอดี... :>

    ตอบลบ
  8. บอกได้ไหม
    อะไรคืออีกครึ่งที่ไม่เห็นด้วย
    อยากรู้อะ

    ตอบลบ
  9. "บรรพบุรุษของเราพัฒนาพันธุ์ที่แข็งแรงเพื่อส่งมาให้ลูกหลาน แต่ปัจจุบันภาคธุรกิจกับรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อการตลาดอย่างเดียว โดยพัฒนาให้ได้พันธุ์ที่อ่อนแอที่สุด ต้องใช้สารเคมีถึงจะอยู่ได้ ให้ผลผลิตเยอะจริงแต่ให้ครั้งเดียวแล้วตายหมด ฉะนั้นเราพัฒนาพันธุ์ที่แย่ที่สุดเพื่อจะส่งมอบให้ลูกหลานเป็นมรดกต่อไป ผมเลยรู้สึกว่าเราเป็นเหมือนมนุษย์ยุคสุดท้ายที่เนรคุณต่อบรรพบุรุษ ต่อธรรมชาติ ต่อทุกอย่างเลย การพัฒนาอาหารของเราในปัจจุบันนี้คือการทำลายทุกอย่าง ชีวิตเราอยู่ในมือไม่กี่บริษัท แม้จะมีเงินเป็นร้อยๆ ล้านแต่เขาเอาอาหารจีเอ็มโอมาให้เรากิน เรามีทางเลือกไหม เราต้องเลี้ยงลูกด้วยซีรีแล็คที่ใช้ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ เรากินน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลที่ทำจากข้าวโพดจีเอ็มโอ เพราะมันถูกที่สุด ในเมื่อไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยได้ เรามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงเพื่อความร่ำรวยของบริษัทเหล่านี้ เราเชื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ไหม เชื่อไม่ได้ คนที่ผลิตดีดีทีขึ้นมาได้รับรางวัลโนเบล สหประชาชาติประกาศว่าดีดีทีเป็นสารมหัศจรรย์ไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม สั่งให้ทุกประเทศใช้ดีดีทีปราบยุงลาย พอเอาดีดีทีไปฉีดในป่าอเมริกาเหนือทำให้กวางเป็นมะเร็ง กบมี ๕ ขา ๔๐ ปีผ่านไปถึงรู้และประกาศให้ดีดีทีเป็นสารผิดกฎหมาย ถ้าคนเรากินพืชจีเอ็มโอ ๔๐-๕๐ ปีข้างหน้าคนคลอดลูกมามี ๗ ขา ใครรับผิดชอบชีวิตเหล่านี้ แล้วเราจะเอาชีวิตไปเป็นหนูทดลองเพื่อความร่ำรวยของมอนซานโตเพื่ออะไรกัน มันไม่คุ้มเลยใช่ไหม"

    หน้า ๑๗๕
    (เรื่องพวกนี้ เคยรู้กันมั่งไหมเนี่ย?)

    ตอบลบ
  10. ไม่รู้ทำไมการอยู่บ้านที่ปลูกผักผลไม้กินเองถึงกลายเป็นชีวิตในอุดมคติไปได้เนอะพี่จุ๊บแจง
    ทั้งที่มันเหมือนจะเป็นเรื่องที่ง๊ายง่ายนี่หว่า
    ก็แทนที่จะปลูกจันทร์กระจ่างฟ้าก็ปลูกตำลึงแทน

    เหอ เหอ

    เรื่องเสื้อผ้านี่ม้อยก็ยังบ้าซื้ออยู่นะพี่ มีเงินน้อยก็ซื้อของถูก
    ไม่รู้เป็นบ้าอะไร
    แต่รองเท้าก็มีเยอะ แต่ยังไม่ถึงยี่สิบนะคะพี่
    มีสามร้อยคู่นี่ รองเท้าพังก่อนใช้คุ้มแหง๋ๆ เลยค่ะ

    แต่ถ้าเรามีเยอะแล้วแบ่งให้คนอื่นใช้มั่งน่าจะดีนะคะ

    ตอบลบ
  11. ถ้าคนเรารู้จักพอเมื่อไหร่ โลกเราก็คงเจ็บน้อยลงกว่านี้แหละเจ้

    ตอบลบ
  12. ขอบใจที่เอาบทความดีมาให้อ่านนะเพื่อน... :-)

    ตอบลบ
  13. อ่านแล้วขนลุก...มันคงเป็นเรื่องของการเมืองน่ะเนอะ...แย่จังที่ต้องอยู่กับการพึ่งพิงสิ่งที่เราไม่รู้จักดี...
    แต่พี่ว่าเมืองไทยมีงานวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์น้อยไป..คนไม่ค่อยทำเพราะอยู่ในแลบมันหน้าเบื่อได้เงินน้อยเรียนจบก็ยาก...คนไทยเลยชอบเรียนสายสังคมศาสตร์หรือธุรกิจ เพราะได้ตังค์เยอะกว่าหรือเรียนสบายกว่า...เราเลยต้องพึ่งเทคโนโลยีต่างชาติแบบงงงง...

    ตอบลบ
  14. เออก็จริง...แต่เรามักจะลืมๆมันไปเนอะ...จริงๆทำแปลงลอยฟ้าเล็กๆที่สนามก็ได้เนอะ... ;P

    ตอบลบ
  15. ก็เป็นเรื่องน่าคิดเนอะ กลับบ้านไปก็ปลุกข้าว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผัก ก็มีชีวิตอยู่ได้
    แต่ทุกอย่างก็พังทะลาย เมื่อมีไฟฟ้า ทีวี นิตยสาร เข้ามา กระแสบริโภคนิยมซึมลึกเข้าสู่กระแสเลือด
    จนยากที่จะแยกมันออกจากชีวิต

    ตอบลบ
  16. ค่อยช่วยๆ กัน ค่อยๆ เริ่ม เริ่มทำในสิ่งที่คิดว่าทำได้ก่อน สิ่งไหนยังทำไม่ได้ ก็คิดว่าทำไม แล้วจะแก้ไขยัง
    จุดเริ่ม ไม่จำเป็นต้องใหญ่โต แต่เอาใกล้ๆ ตัวก่อน ทำได้ทีละนิดทีละหน่อย แล้วก็เริ่มพยายามเพิ่มในเรื่องต่อๆ ไป

    คิดว่างั้นนะ...

    ตอบลบ
  17. สารคดีเล่มเดือนมีนา นี่ปกอะไรคับ ขอบคุณที่เอามาให้อ่าน

    ตอบลบ
  18. กิเลสไงครับ
    "จงปกป้องข้า จากความต้องการของตนเอง"
    "protect me from what I want"

    ตอบลบ