วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551

บึงหญ้าป่าใหญ่: เรื่องเล่าจากวันที่ชีวิตยังงดงาม

Rating:★★★★★
Category:Books
Genre: Childrens Books
Author:เทพศิริ สุขโสภา

วรรณกรรมเยาวชนภาษาไทยสุดคลาสสิก ที่เพิ่งมีโอกาสอ่าน (-_-) ก็.. มัวงมโข่งอยู่-อีกตามเคย

ตั้งแต่ได้มาก็ค่อยๆ แตะ เล็มอ่านไปช้าๆ พาไปเชียงใหม่เมื่อต้นปี จากนั้นก็พามาทำงาน พาไปหาเพื่อน และพาไปกระบี่เมื่อเดือนก่อน...ก็ยังไม่จบ
ที่จริงไม่อยากให้จบเลย ไม่อยากให้ภาพชีวิตวัยเยาว์อันบริสุทธิ์งดงามในเรื่องต้องจบลง ...แต่แม้ว่ายังอ่านไม่จบก็อยากจะเขียนถึงแล้ว ก็จะเขียนเลยแล้วกัน

บึงหญ้าป่าใหญ่ เขียนโดยอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินผู้มีทักษะในหลายแขนง ทั้งจิตรกรรม วรรณกรรม และนาฏศิลป์ อาจารย์ยังเขียนภาพประกอบในเล่มด้วย ..นึกไม่ออกว่าหัวใจของหลายหลายคนที่อ่านไปตั้งแต่ยังเด็กมากๆ (หรือเด็ก..เหลืออยู่ไม่มาก) จะได้สัมผัสกับภาพที่สวยงามอย่างไร มีสีสันต่างกันมากไหม สำหรับดิฉัน การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ในวัยผู้ใหญ่ วัยที่ควรจะเป็นแม่คน (ไปตั้งนานแล้ว) หัวใจได้สัมผัสถึงความงดงามในมุมเฉพาะตัว เรื่องเล่าึถึงวีถีชีวิตช้าๆ จริงเหมือนมีลมพัด ผีเสื้อบินผ่าน ลมโหม ลำแควเชี่ยวไหลอยู่ใกล้ๆ ผ่านสำนวนภาษาไพเราะ สร้างความอิ่มเอิบในใจ กลายเป็นรอยยิ้มบางๆ บนใบหน้าที่มักจะบึ้งตึง เย่อหยิ่ง อยู่เป็นนิจศีล
..เหมือนในใจพลันประดับไปด้วยภาพวาดสีน้ำแสนงามโดยปลายพู่กันของอาจารย์เทพศิริ
ชอบ จนอยากคัดตอนที่ประทับใจมาไว้ ณ ที่นี้


...แล้วปู่ทั้งสองก็ปูผ้าขาวม้าลง นั่งหันหน้าเข้าหากันนิ่งอยู่นาน ดูจริงจัง แล้วปู่เจ้าบ้านก็พูดขึ้นช้าๆ นิ่มนวลเหมือนอย่างจะถอดใจออกมาวาง
“ถ้าคำไหนจะหนักหรือผิดหูไปบ้าง ฉันกราบพ่อขออย่าด่วนโกรธเคือง เพราะว่าของซื้อของขายเราต่อรองกันได้”
ปู่ก้มหัวรับ แล้วนิ่งรอฟัง
“พ่อเอ๋ย ไม่มีอีกแล้วหนอในบ้านนี้ นี่อาจจะสุดท้ายแล้ว รับรองไม่มีอีก” ปู่เจ้าบ้านพักพูดนิดหนึ่งแล้วว่า “พ่อก็เคยรู้ไม่ใช่หรือว่าบ้านนี้แต่ไหนแต่ไรไม่เคยมีอาชีพอื่น ทำกินอยู่อย่างเดียวจนขึ้นชื่อ จะเอาทรงกาบกล้วยเป็นรางยาวๆ ตรงๆ อย่างนี้ หรือทรงกาบปลีหัวท้ายโค้งหุ้มได้ทั้งนั้น ใช้ตาเล็งเอา ไม่เคยตีเส้นนำ”
“สักเท่าไรพ่อ” ปู่ถาม
“พ่อเอ๋ย เสียงถากเสียงขุดให้ลั่นหัวบ้านจรดท้ายบ้าน ไม่รู้มาสักกี่ชั่วคน ไม้เรามีมาก อยู่ๆ มาหลวงเขาจะเอาผิด ว่าต่อแต่นี้จะตัดไม่ได้ ป่าไม้เป็นทรัพย์ของแผ่นดิน เอ๊ะ ก็เห็นโรงเลื่อยเขามาโค่นเอาๆ ว่าอะไร สัมปทานๆ ฉันก็เรียกไม่ถูก แปลว่าหลวงเขาอนุญาตเป็นพิเศษ แต่พวกเรากลับแตะไม่ได้ ก็ไม่เห็นไม้เหลือติดป่าสักต้นนี่ ทรัพย์แผ่นดินที่ไหน ลำนี้ลำสุดท้ายแล้วนะพ่อ”
“เท่าไร” ปู่ถามอีก
“นี่สุดท้ายแล้ว กว่าจะไปขโมยตัดมาได้ต้องไปลากไกลมาก ขุดให้อย่างชนิดคุยได้เลยว่าสมคำลือ รับปากพ่อหลายปีแล้วไม่เคยลืม รับรองจะไม่ให้เสียชื่อ”
“จะเรียกสักเท่าไรพ่อ” ปู่ว่า
“ห้าเชือกเป็นไง” ปู่เจ้าบ้านเรียกใบละร้อยตามรูปช้างในธนบัตร เลี่ยงไม่พูดเงินร้อยเพราะถือเป็นของบาดใจ คงอยากจะให้ฟังดูน้อย
ปู่เราก็ลังเล มองตาเจ้าของบ้าน แล้วก็พูดเนิบๆ บ้าง
“ห้าเชือกก็ไม่สู้แพงเท่าไร เห็นใจพ่อ อุตส่าห์มีแก่ใจไปลากมาขุดเรือให้ เราแก่ตัวลงด้วยกันแล้วจะไปทำกินอย่างอื่นกับเขาก็ไม่ไหว ลูกหลานจะมีให้พึ่งได้ก็ไม่มี พ่ออาชีพขุดเรือ ฉันอาชีพพาย หัวอกเดียวกัน เหน็ดเหนื่อยก็สู้ทน ฉันเพียรเก็บวันละสลึงสองสลึง พอจะเหลือบ้างก็เอาไปฝากวัดไว้กินชา่ติหน้ากับเขา ชาตินี้เรามันเกิดมาจนพ่อเอ๋ย ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงละก็ฉันจะไม่ขอต่อเลย เอ้า ให้ ๓ เชือกจะเป็นไง” แล้วต่างก็ยิ้ม จ้องมองตากันอยู่นาน
“ตกลง ๔ เชือก” ปู่เจ้าบ้านตัดใจแล้วลุกขึ้น ปู่เราก็รวบผ้าขาวม้าพาดไหล่ ลุกยงโย่ยงหยก ยันไม่ทันจะเต็มยืนก็กอดกันแน่น
“พายด้วยนะพ่อ” ปู่เราว่า
“อ๊ะ มีอย่างที่ไหน ซื้อเรือไม่ให้พาย ซื้อควายไม่ให้เชือก” ปู่เจ้าบ้านว่า “เอาเลย ฉันเตรียมไว้ให้ตั้ง ๓ เล่ม”
แล้วปู่เจ้าบ้านก็จูงควายมาลากเรือขุดลำยาว ลัดสวนกล้วยไปลงแคว เรา ๓ คนถือพายเดินตาม
เรือลำนั้นพอได้น้ำก็ลอยฟ่องทำน้ำเป็นระลอกออกไป ปู่รีบลงนั่ง ขยับพายคัด ลองโคลงลำ ขย่มหัวท้ายดูแคล่วคล่องก็หัวเราะ เรียกเราสองให้ลงนั่ง....


ไม่รู้ว่า บึงหญ้าป่าใหญ่ จะจบลงยังไง ได้ยินว่า ร่างพระร่วง คือภาคต่อไป เล่มนั้นเคยแตะๆ มาเหมือนกัน แต่จำได้ว่ามีความรู้สึกว่าเรื่องในนั้นมัน real จริง จนอ่านไม่รู้เรื่อง
ไม่รู้อีกว่า อ่าน บึงหญ้าป่าใหญ่ จบแล้วควรจะอ่าน ร่างพระร่วงไหม


8 ความคิดเห็น:

  1. เคยอ่านแต่ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ...เดี๋ยวจะไปหามาอ่านมั่ง อ่านจบแล้วส่งไปบริจาคให้เด็กเนอะ ดีมะ

    ตอบลบ
  2. เคยอ่านเมื่อนานมาแล้วครับ..
    ชอบครับ..ชอบ..

    อยากไปฟัง อ.เทพศิริ เล่าเรื่องอื่นๆ ด้วย
    ไม่ได้เจออาจารย์นานแล้ว

    ตอบลบ
  3. ไม่ยักกะรู้สึกว่า ร่างพระร่วง เป็นภาคต่อของบึงหญ้าป่าใหญ่
    จริงๆ ลืมไปด้วยแล้ว ว่าร่างพระร่วง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
    ตอนเห็นหนังสือเล่มนี้ออกมา ก็รีบซื้อนะ รวมถึงเล่มอื่นๆของ เทพศิริ
    เพราะติดใจบึงหญ้าป่าใหญ่นั่นแหละ และก็รอว่าเมื่อไหร่แกจะเขียนเล่มใหม่ออกมา

    สรุปว่า ชอบบึงหญ้าป่าใหญ่
    เหมือนเป็นแฟนฉันเวอร์ชั่นหนังสือนะ
    แต่แฟนฉัน มันเด็กบ้านนอกในเมือง (ใครสักคนเคยวิจารณ์ไว้อย่างนี้) ส่วนบึงหญ้ามันบ้านนอกกว่าแฟนฉันนะ
    แต่ทั้งคู่ก็ไปเรียนที่อื่นเหมือนกัน

    ตอบลบ
  4. ข้าเปิดตอนแรกมาแล้วอินมาก
    ตอนที่แม่จูงลูกไปส่งโรงเรียนน่ะเอ็ง
    ก็คิดว่า ถ้าเป็นตัวเองส่งลูกไปโรงเรียนจะเป็นไง
    แล้วลูกเราไปโรงเรียนวันแรกจะเป็นงี้ไหม

    แต่ก็นะ เด็กสมัยนี้ แม่สมัยนี้ ชีวิตคงไม่งดงามเหมือนในหนังสือเล่มนี้หรอก

    ตอบลบ
  5. ตอนเด็กๆ เคยมีโอกาสชมอาจารย์เทพศิริเพอร์ฟอร์มครั้งนึง
    เป็นการเปลือยท่อนบน(ถ้าจำไม่ผิด)สวมหน้ากาก แล้วฟ้อน กับแม่หญิงนางนึง
    จัดแสงแบบแนวๆ แสงเงาหนักๆ ชัดๆ

    เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นการแสดงที่คอนเทมโพรารี่ขนาดนั้น
    อึ้ง-ทึ่งไปเลย ประทับใจมาก

    ไม่คิดว่าอาจารย์ที่เวลาปกติใส่แว่นหนาๆ ท่าทางใจดี จะหุ่นดีขนาดนั้น
    ทำอะไรได้ขนาดนั้น

    ตอบลบ
  6. พี่จุ๊บคะ
    บริจาคบ้านเล็กในป่าใหญ่ให้น้องม้อยก่อนก็ได้นะคะ
    แบบว่า.. ยังอ่านไม่ครบชุด

    ตอบลบ
  7. สมัยเมื่อ 4-5 ปีก่อน
    ผมจะปั่นจักรยานผ่านหน้าบ้านเลขที่ 100/4 ในซอยวัดอุโมงค์ ไปทำงานที่ มช.ทุกเช้า
    บางวันจะเห็น อ.เทพศิริ ออกมากวาดใบไม้
    ก็ได้ทักทายตามประสา

    เคยมีโอกาสได้เข้าไปดูภาพในบ้านของอาจารย์อยู่ 3-4 ครั้ง
    ได้เห็นตอนอาจารย์เขาวาดภาพด้วย
    วาดเร็วมาก เหมือนกับจอมยุทธ์บรรเลงเพลงกระบี่

    ทุกครั้งที่เข้าไปก็จะได้ฟังเรื่องเล่า
    มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมกลายเป็นตัวละครในเรื่องเล่าฮาๆ ของอาจารย์ด้วย..

    เห้อเห้อเห้อ....

    ตอบลบ